ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตแหล่งท่องเที่ยวไทย "ดอยอินทนนท์" ครองแชมป์สร้างขยะมากสุดช่วงปีใหม่ 3,600 ตัน -พบขยะชายหาด-ทะเลปีละ 70,000 ชิ้น

สิ่งแวดล้อม
2 พ.ย. 58
11:47
4,022
Logo Thai PBS
วิกฤตแหล่งท่องเที่ยวไทย "ดอยอินทนนท์" ครองแชมป์สร้างขยะมากสุดช่วงปีใหม่ 3,600 ตัน -พบขยะชายหาด-ทะเลปีละ 70,000 ชิ้น

กรมอนามัยห่วงขยะล้นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม พบดอยอินทนนท์กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือผลิตขยะช่วงเทศกาลปีใหม่มากสุด 36,000 กก. ขณะที่ทะเลและชายฝั่งไม่น้อยหน้า 3 ปี (2552-2555) เก็บขยะได้ 2.1 แสนชิ้น ส่วนสถานการณ์ขยะมูลฝอยทั้งประเทศล่าสุด (2557) คนไทยผลิตขยะ 26.2 ล้านตันต่อปี ชวนรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกและลดปริมาณขยะ

วันนี้ (2 พ.ย. 2558) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์ขยะมูลฝอยในปี 2551–2557 ของสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบปริมาณขยะมูลฝอยรวมทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปัจจุบันขยะมูลฝอยทั่วประเทศมีปริมาณอยู่ที่ 23.93–26.2 ล้านตันต่อปี โดยปี 2557 ปริมาณมูลฝอยเกิดขึ้นแบ่งเป็นพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ เทศบาล 10.73 ล้านตัน กรุงเทพมหานคร 3.94 ล้านตัน และองค์การบริหารส่วนตำบล 11.52 ล้านตัน

นพ.วชิระกล่าวเพิ่มว่า ปริมาณขยะเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นจากแหล่งท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลที่สำคัญ จากข้อมูลสถิติของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พบปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติ ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวในวันหยุดปีใหม่ อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ มีปริมาณขยะสูงสุดถึง 36,000 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน 15,200 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย มีปริมาณขยะ 13,000-15,000 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก 10,000 กิโลกรัม และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ และดอยปุย จ.เชียงใหม่ 1,912 กิโลกรัม ซึ่งขยะที่เกิดขึ้นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งอาหารของสัตว์ เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน ที่นำโรคต่างๆ มาสู่คน เช่น โรคบิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค เป็นต้น

นพ.วิชระกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเป็นอีกแหล่งที่มีขยะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจำนวนมาก ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2552-2555 เจ้าหน้าที่สามารถเก็บขยะในทะเลสะสมได้สูงถึง 216,691 ชิ้น หรือเฉลี่ยปีละ 54,000 ชิ้น ขยะที่พบส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก เชือก ฝาและจุก กระดาษ ขวดแก้ว หลอดดูดน้ำ ถ้วย จาน ก้นกรองบุหรี่ เป็นต้น ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษต่อแหล่งท่องเที่ยว และเป็นสาเหตุทำให้สัตว์ทะเลเสียชีวิตจากการกินขยะเหล่านี้เพราะคิดว่าเป็นอาหาร

“นักท่องเที่ยวต้องช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และช่วยกันตักเตือนผู้ที่ทิ้งขยะอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ควรทิ้งขยะลงในภาชนะที่จัด และไม่ควรนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว หากนำเข้าไปให้เก็บคืนออกมาให้มากที่สุด” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง