คลัง ชง
การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 มกราคม 2555 นี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการการลงทุน ที่จะส่งผลต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก จึงเห็นควรออกมาตรการภาษีโดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.มาตรการหักค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า
ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคมพ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และอยู่ในท้องที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของเงินได้ที่ได้จ่ายไปนั้น โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1.1 ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า ต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามประสงค์ตั้งแต่วันที่25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555
1.2 ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ตามประสงค์
2. มาตรการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า
2.1 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และอยู่ในท้องที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ได้ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละสี่สิบของมูลค่าต้นทุนสำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร
2.2 ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามประสงค์ตั้งแต่วันที่25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555
การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการ 1 และ 2 ข้างต้น ผู้เสียภาษีจะต้องไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆอยู่แล้ว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ภัยพิบัติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2554 ได้นำมาซึ่งความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการในหลายพื้นที่ สถานประกอบการหลายแห่งทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรมต่างได้รับความเดือดร้อนและเกิดความสูญเสียต่อเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยไปแล้วในหลายมาตรการ อาทิ มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้มีการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และมาตรการภาษีด้านเงินช่วยเหลือและเงินชดเชยความเสียหาย อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ประสบอุทกภัยจำนวนมากซึ่งเป็นผู้ประกอบการซึ่งได้รับความเสียหายในเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าและต้องมีการลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรมาดำเนินกิจการเพื่อให้มีความต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้มีการออกมาตรการภาษีเพิ่มเติมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลงทุนในเครื่องจักรของผู้ประกอบการดังกล่าว
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เสริมว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในทรัพย์สินของผู้ประสบอุทกภัยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการได้จัดหาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า ซึ่งจะเป็นการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการดังกล่าว และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรประมาณ 7,700 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ประสบภัยพิบัติได้มีการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อการผลิตสินค้าแล้วจะส่งผลดีต่อผลประกอบการและทำให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในระยะยาว