ข้อจำกัดของนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองในจีน
บรรยากาศอลังการหน้าพระราชวังต้องห้าม ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเนืองแน่นแทบทุกวัน แต่สิ่งที่ “ไป๋ปู่ตาน” นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองชาวจีนสนใจ คือจำนวนกล้องวงจรปิดที่เรียงรายหน้าพระราชวัง ซึ่งเขาสงสัยว่ามีไว้เพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือจับตาการแสดงออกทางการเมืองของผู้คนในสถานที่แห่งนี้กันแน่ โดยหลังจากกลับไปที่สตูดิโอส่วนตัว เขาก็นำภาพร่างที่อยู่ในไอแพด มาถ่ายทอดด้วยลายเส้นหมึก กลายเป็นผลงานที่ล้อเลียนความกังวลของรัฐบาลแดนมังกร ต่อการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนชาวจีนจนถึงวันนี้
นักวาดการ์ตูนวัย 45 ปี กล่าวว่า ที่เขาหันมาเขียนการ์ตูนล้อการเมือง เพราะสนใจประเด็นเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนและสังคม แต่ข้อจำกัดด้านการแสดงออกในสังคมจีน เป็นสิ่งที่สร้างความคับข้องใจแก่เขาอย่างมาก
นับตั้งแต่จีนทำการปฎิวัติวัฒนธรรมเมื่อปี 1949 การ์ตูนล้อเลียนจึงเป็นสื่อที่หาได้ยากในแดนมังกร โดยนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองชาวจีนที่กลายไปข่าวดังเมื่อปีก่อนได้แก่ “หวังหลี่หมิง” ผู้ใช้นามปากกาว่า “Rebel Pepper” ซึ่งผลงานที่เน้นโจมตีผู้นำประเทศอย่างนายสี จิ้นผิง โดยเฉพาะ ทำให้เขาถูกทางการสั่งปิดเว็บไซต์ ตามด้วยการถูกค้นบ้าน จนสุดท้ายเจ้าตัวต้องลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว (2557)
เพื่อเลี่ยงการถูกทางการเล่นงานเหมือนเพื่อนนักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ ไป๋ปู่ตานจึงเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล แล้วหันมาล้อเลียนประเด็นที่สื่อถึงปัญหาสังคมโดยรวม แต่กระนั้นเว็บไซต์เว่ยปั๋วของเขาก็ถูกทางการสั่งปิดเมื่อปีก่อน (2557) หลังภาพตัวการ์ตูนที่อยู่ในจตุรัสเทียนอันเหมิน ถูกตีความว่าสื่อถึงเหตุการณ์ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยโดยกลุ่มนักศึกษาเมื่อปี 1989
แม้จะถูกปิดช่องทางนำเสนอผลงานแต่เขาไม่ได้กังวลมากนัก เพราะส่วนหนึ่งไม่อยากถูกทางการจับตามากเกินไป และมองว่าอาชีพนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองหรืออาชีพไหนๆ ต่างก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น
การควบคุมการแสดงความเห็นของศิลปิน คือความพยายามของรัฐบาลจีนที่ต้องการปิดกั้นความคิดของกลุ่มคน ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่ง “หลี่เชียนถิ่ง” นักวิจารณ์ศิลปะชาวจีนเล่าว่า ในอดีตหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์มีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง อาชีพนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองเป็นสิ่งที่สังคมทั่วไปยอมรับ แต่เมื่อใดที่ความคิดเห็นของประชาชนถูกปิดกั้นเสียแล้ว สังคมนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ปกติสุขได้
ตามสถิติขององค์กรสื่อมวลชนระหว่างประเทศ ประเทศจีนคือชาติที่สั่งคุมขังสื่อมวลชนสูงที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีนักข่าวถูกจองจำอยู่ถึง 44 คน