วิปรัฐบาลหารือแก้รัฐธรรมนูญ
ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตอบรับแนวคิดการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) โดยเห็นว่า คณะกรรมการถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการร่างโครงสร้างรัฐธรรมนูญ
ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล วันนี้ (9 ม.ค.) นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า จะนำความคิดเห็นของ คอ.นธ.มาหารือร่วมกัน แต่ทั้งนี้วิปรัฐบาลจะยังไม่มีมติอย่างหนึ่งออกมา
ขณะที่นายอุกฤษระบุว่า จะรอฟังความคิดเห็นของวิปรัฐบาลต่อแนวทางที่เสนอไป และพร้อมจะนำเสนอแนวทางให้รัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.)
ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ถอนข้อเสนอการตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น นายอุกฤษยืนยันว่า จะไม่ถอนข้อเสนอดังกล่าว เพราะเป็นข้อเสนอที่มาจากการประชุมของกรรมการ และเมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นเผด็จการมากกว่าการมีที่มาจากกรรมการยกร่าง เพราะเมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างและเข้าสู่สภาฯ จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย แต่ที่ คอ.นธ.เสนอ สภาฯ สามารถแก้ไขได้ และยังต้องทำประชามติเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่า แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งการตั้ง ส.ส.ร. และให้มีกรรมการยกร่าง ไม่ใช่คำตอบในการสร้างความปรองดอง เพราะเป้าหมายยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง โดยเห็นว่า คอ.นธ.ควรทบทวนและตั้งโจทย์ใหม่ให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน และตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ มีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่ม
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา สนับสนุนแนวคิดการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกรรมการที่ คอ.นธ.เสนอชื่อเป็นบุคคลที่มีบทบาทในสังคม และเชื่อว่าอาจเป็นแนวทางที่สังคมยอมรับมากกว่าที่นักการเมืองจะดำเนินการเอง
ส่วนการประชุมวุฒิสภาวันนี้ (9 ม.ค.) ก่อนเข้าวาระการประชุม ได้หารือถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกพระราชกำหนดกู้เงินจำนวน 4 ฉบับ และการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเรื่องดังกล่าว และ ส.ว.ส่วนหนึ่งเตรียมรวบรวมรายชื่อ 1 ใน 5 ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกำหนดดังกล่าวเพื่อให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง หากออกกฎหมายขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ