4 แนวทางผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมา
วันที่ (8 พ.ย. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางหลังจากประกาศผลเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเมียนมา มีทั้งสิ้น 4 แนวทางด้วยกัน คือ
แนวทางแรก พรรค NLD ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี สามารถคว้าชัยชนะได้อย่างถล่มทลาย โดยต้องได้ที่นั่งอย่างน้อยร้อยละ 67 จาก 491 ที่นั่งที่ชิงชัย ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้พรรคสามารถเสนอชื่อประธานาธิบดีได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นคำถามที่ตามมา พรรค NLD จะเสนอชื่อใครขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากนางซู จี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ผู้ที่มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นชาวต่างชาติขึ้นเป็นประธานาธิบดี
ทว่า การแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (5 พ.ย. 2558) นางซู จี ประกาศว่า ถ้าพรรค NLD ชนะ ถึงเธอจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ขอเป็นผู้บริหารประเทศจากเบื้องหลัง ถือว่าเป็นตำแหน่งที่อยู่เหนือกว่าประธานาธิบดี ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องจับตาปฏิกิริยาของกองทัพอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลเมียนมาได้ตอบโต้นางซู จี ว่า ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถอยู่เหนือประธานาธิบดีตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเอาไว้ให้เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศได้
แนวทางที่ 2 คือไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก ถ้าหากเป็นกรณีนี้ เท่ากับว่าการเมืองเมียนมาจะต้องเข้าสู่ภาวะการเจรจาต่อรองทางการเมืองและสร้างพันธมิตรอย่างเข้มข้น และมีความเป็นไปได้ที่พรรค NLD จะจับมือกับพรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อคุมเสียงสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจไม่สามารถคุมเสียงสภาชนชาติ หรือสภาสูงได้ เช่นเดียวกับพรรค USDP ที่จะต้องสร้างพันธมิตรกับพรรคกลุ่มชาติพันธุ์เช่นกัน ซึ่งนักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนมองว่า อาจเป็นเรื่องยาก เพราะกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเคยต่อสู้กับกองทัพซึ่งหนุนหลังพรรค USDP ซึ่งแม้ว่าระยะหลังกองทัพและรัฐบาลพยายามเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหลักๆ
แนวทางที่ 3 คือทุกอย่างพลิกโผ พรรค NLD แพ้การเลือกตั้ง ขณะที่ พรรค USDP ชนะการเลือกตั้ง โดยก่อนหน้า นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาน้อยคนนักที่มองว่าพรรค NLD จะแพ้การเลือกตั้ง ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยวัดจากการหาเสียงที่มีคนไปฟังพรรค NLD หาเสียงจำนวนมาก ทว่า เมียนมาไม่มีการสำรวจความเห็นหรือทำเอ็กซิต โพล รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็มีน้อยมาก ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ยากว่าความสนใจของผู้ที่ไปฟังการหาเสียงเลือกตั้ง จะกลายเป็นคะแนนสนับสนุนในวันเลือกตั้งจริงหรือไม่
ขณะเดียวกัน พรรค USDP ภายใต้การนำของ พล.อ.เต็ง เส่ง มีเวลาเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งไม่น้อย และความสำเร็จในการบริหารประเทศช่วงที่ผ่านมาก็เป็นจุดเด่นอีกอย่างของพรรคด้วยเช่นกัน
แนวทางสุดท้าย ในกรณีเลวร้ายที่สุดคืออาจเกิดความวุ่นวายหรือบานปลายกลายเป็นการลุกฮือของประชาชนได้ หากมีข้อกล่าวหาหรือหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการโกงเลือกตั้งที่ประชาชนไม่อาจยอมรับ หรือถ้าในอีกกรณีคือการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ถ้าพรรค NLD ไม่ได้เสียงข้างมาก อาจเกิดความวุ่นวายจากผู้ที่สนับสนุนพรรคเช่นกัน
ซึ่งทั้งหมดนี้คือความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมา