ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง เพื่อแสดงความจริงใจในการปฏิรูปประเทศ

ต่างประเทศ
13 ม.ค. 55
08:25
18
Logo Thai PBS
รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง เพื่อแสดงความจริงใจในการปฏิรูปประเทศ

รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองคนสำคัญภายใต้กฏหมายนิรโทษกรรมฉบับใหม่ซึ่งรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการปฏิรูปประเทศตามที่เคยให้คำมั่นไว้กับนานาชาติ

รัฐบาลพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองในวันนี้(13 ม.ค.) หลังจากเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) รัฐบาลพม่าประกาศเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษราว 650 คน ในจำนวนนั้นรวมถึงพลเอกขิ่น ยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผอ.ข่าวกรองทหาร ที่ถูกกักตัวเมื่อปี 2547 หลังการแย่งชิงอำนาจภายในประเทศ และนายมิน โก เนียง อดีตแกนนำนักศึกษาพม่า ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 65 ปีในการพิจารณาคดีเมื่อปี 2550 โดยครอบครัวของเขาออกมายืนยันข่าวการนิรโทษกรรมแล้ว

เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าคนหนึ่งระบุว่าการออกกฏหมายนิรโทษกรรม นักโทษการเมืองครั้งนี้ของพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปรองดองในชาติ และการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองของทุกฝ่าย

การปล่อยตัวนักโทษการเมืองรอบนี้เกิดขึ้นเพียง 1 วันหลังจากรัฐบาลลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความพยายามในการปฏิรูปประเทศที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลพม่า

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคมรัฐบาลพม่าเคยปล่อยตัวนักโทษการเมืองแล้วครั้งหนึ่ง ราว 200 คน แต่ชาติตะวันตกยังคงเรียกร้องให้พม่าแสดงความจริงใจ ด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมืองให้มากกว่านี้ เพราะเชื่อว่ายังมีนักโทษการเมืองถูกคุมขังอยู่อีกราว 1,500 คนทั่วประเทศ ขณะที่ในช่วงวันชาติพม่าเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลพม่าประกาศลดโทษแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งสร้างความผิดหวังแก่ชาติตะวันตก เพราะคิดว่ารัฐบาลพม่าจะใช้โอกาสในช่วงวันชาติ ในการปล่อยตัวนักโทษการเมือง

การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่มีขึ้นในวันนี้ (13 ม.ค.) จึงสร้างความประหลาดใจแก่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเป็นการแสดงออกอีกครั้งของรัฐบาลพม่า ในการปฏิรูปประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย ขณะที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า มองว่ากฏหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ถือเป็นสัญญาณในทางบวก และยินดีกับการตัดสินใจในการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในครั้งนี้

ทั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่านักโทษที่ได้รับการนิรโทษกรรม 650 คน เป็นนักโทษการเมืองทั้งหมดหรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง