สถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออกปี 2558 มีผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 102,762 คนและมีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศจำนวน 102 คน โดยที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกแล้ว 12,708 คน แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยแบ่งตามช่วงอายุ มากที่สุดคืออายุ 20-24 ปี จำนวน 1,333 คน, อายุ 10-14 ปี จำนวน 1,312 คน และอายุ 15-19 ปี จำนวน 1,213 คน โดยเขตที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดได้แก่เขตวัฒนา, เขตธนบุรี, เขตหนองจอก และเขตพระนคร
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า "ยุง" เป็นสัตว์ที่มีขนาดตัวเล็กแต่คร่าชีวิตมนุษย์กว่า 600,000 คนต่อปี โดยยุงเป็นพาหะของโรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก โรคไข้เหลือง และโรคสมองอักเสบ
มีการตั้งข้อสังเกตถึงการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกสายพันธ์ใหม่ ซึ่งสำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออก ระบุว่า ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด เป็นเพียงหนึ่งในสายพันธุ์เชื้อของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อ "เดงกี" (Dengue) มีอยู่ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ เรียกชื่อเรียงกันง่ายๆว่าสายพันธุ์ 1 2 3 และ 4
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดคือสายพันธุ์ 3 แต่มาถึงปี 2558 สายพันธุ์ที่เด่นขึ้นมาแทนและแนวโน้มเป็นสายพันธุ์ที่ 4 ซึ่งการที่ใครหลายคนพูดกันถึงสายพันธุ์ใหม่แท้จริงจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนสายพันธุ์ จากสายพันธุ์หนึ่งเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังเกิดความสับสนระหว่างไข้หวัดและไข้เลือดออก เนื่องจากมีอาการที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ผู้ป่วยบางคนละเลยที่จะรับการรักษาจนเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต โดยโรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัสเดงกี่ ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ทำให้โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยยุงชนิดนี้พบอยู่มากในแถบอากาศร้อนชื้น หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
ความเสี่ยงของโรคอยู่ที่อาการของโรคที่มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่รับการรักษา โดยในช่วงแรกจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ไข้จะสูงกว่ามากและอาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซีย ขณะเดียวกันใบหน้าของผู้ป่วยจะแดงและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากรัดต้นแขนด้วยสายรัดจะพบจุดเลือดออก
ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆ และในบางคนที่มีอาการรุนแรงมากอาจพบอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้อาการนำของภาวะช็อกมักเริ่มจากการมีไข้ลดลง ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงตามด้วยอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
แต่เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นสำคัญ ทั้งการใช้ยาพาราเซตามอลลดไข้ เช็ดตัวและการป้องกันภาวะช็อก สำหรับขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่คือ พาราเซตามอลชนิดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด หรือ 4 กรัม ส่วนขนาดยาที่ใช้ในเด็กคือ พาราเซตามอลชนิดน้ำ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ครั้ง ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์พาราเซตามอลชนิดน้ำสำหรับเด็กมีหลายความแรงจึงควรอ่านฉลากและวิธีใช้ให้ดีก่อน
ส่วนการป้องกันภาวะช็อก กระทำได้โดยการชดเชยน้ำให้ร่างกายเพื่อไม่ให้ปริมาณเลือดลดต่ำลงจนทำให้ความดันโลหิตตก แพทย์จะพิจารณาให้สารน้ำตามความรุนแรงของอาการ แม้ว่าในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ จึงควรควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย กำจัดยุงลายทั้งลูกน้ำและตัวเต็มวัย รวมถึงป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด