ห่วง
นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์จากกสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาวิจัยเรื่อง Girl in Cyberspace : Opportunities and Risk (เด็กผู้หญิงในโลกออนไลน์ : โอกาสและความเสี่ยง) ของเด็กไทยอายุตั้งแต่ 10-18 ปี พบเด็กผู้หญิงมีโอกาสถูกล่อลวงจากการสนทนาออนไลน์ ผ่านโปรแกรมต่างๆ โดยเฉพาะ MSN ซึ่งการให้ข้อมูลส่วนตัวเป็นต้นเหตุของการถูกล่อลวง ซึ่งจากการศึกษาของมูลนิธิกระจกเงา ระบุว่าในปี 2552 มีตัวเลขของเด็กผู้หญิงที่สูญหายไปถึง 37 คน และพบว่าส่วนใหญ่เต็มใจไปกับผู้ที่พบปะในสังคมออนไลน์
ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เด็กผู้หญิงทั้งในเมือง และนอกเมืองมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่แตกต่างกัน เด็กผู้หญิงในเมืองมีแนวโน้มการใช้อินเทอร์เนต มากกว่าโทรศัพท์มือถือ ขณะที่เด็กที่อยู่นอกเขตเมืองมีแนวโน้มการใช้ โทรศัพท์มือถือ มากกว่าอินเทอร์เนต ซึ่งในการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กผู้หญิงทั้งในเมือง และนอกเมืองนั้นทำให้มีโอกาสที่จะได้พูดคุยกับคนแปลกหน้าทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟคบุ๊ค (Facebook) หรือไฮไฟว์ (Hi5) และโปรแกรมการพูดคุยผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น โปรแกรม เอ็มเอสเอ็น (MSN) ขณะที่เด็กผู้ชายจะติดเกมส์ทางอินเทอร์เน็ตมากกว่า และ ซึ่งจากการสำรวจการคุยผ่านโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ต พบทั้งเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชายมีการแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์กัน เพราะคิดว่าไม่เป็นไร
ขณะที่ยังมีเด็กอีกกลุ่มใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ หรือการศึกษาหาข้อมูลเพื่อการศึกษาทั้งใน และนอกห้องเรียน อีกทั้งยังมีการสร้างเว็บไซต์ชุมชนเพื่อเผยแพร่ข่าวสารและให้ความรู้กับคนในชุมชน ซึ่งในขณะนี้ได้มีกลุ่มเครือข่ายนักปฏิบัติในการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้การดูแลของ นายอิทธิพล ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเด็กที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เช่น ทางด้านการพัฒนาซอฟทแวร์ พัฒนาการศึกษา(e-leaning) นอกจากจะมีการสร้างกลุ่มเด็ก เพื่อการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ยังจะมีการสร้างกลุ่มเครือข่ายครูอีกด้วย