หวั่นแปรรูป "ปตท.-การบินไทย" ปชช.เสียประโยชน์

24 ม.ค. 55
14:23
14
Logo Thai PBS
หวั่นแปรรูป "ปตท.-การบินไทย" ปชช.เสียประโยชน์

แนวคิดการแปรรูป ปตท.และการบินไทย ไม่ใช่ครั้งแรก แต่การลดถือครองหุ้นอีกร้อยละ 2 ทำให้รัฐวิสาหกิจกลายเป็นเอกชนในเชิงเทคนิคทันที ท่ามกลางความกังวลจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องว่า อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยรัฐบาลแต่ละยุคให้เหตุผลว่า รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ประสบปัญหาหนี้สินอย่างหนัก และกระทบงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2535 ส่วนบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ปลายปี 2544 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

รัฐบาลในสมัยนั้นยืนยันว่า แม้แปรรูป แต่ทั้ง 2 หน่วยงานจะยังคงเป็นกิจการของรัฐ โดยกระทรวงการคลังจะถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แต่ในปี 2546 รัฐบาลตั้งกองทุนวายุภักษ์ ในฐานะนิติบุคคลเอกชน เข้าซื้อหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อีกร้อยละ 15 จึงทำให้วันนี้ (24 ม.ค.) กระทรวงการคลังถือหุ้นบริษัททั้ง 2 แห่งเหลือร้อยละ 51

รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแนวคิดให้กองทุนวายุภักษ์เข้าซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งอีกร้อยละ 2 ซึ่งจะทำให้หลุดจากรัฐวิสาหกิจ เพราะกระทรวงการคลังจะเหลือหุ้นเพียงร้อยละ 49 โดยให้เหตุผลว่าหนี้สินและภาระผูกพันรวมกันกว่า 900,000 ล้านบาท กระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะประเทศ

แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า หากบริษัทแปรเป็นเอกชน ผู้ใช้บริการอาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าโดยสาร ส่วนความคล่องตัวทางธุรกิจนั้น แม้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ในทางปฏิบัติ สามารถเจรจาขอลดขั้นตอนทางราชการได้ และเป็นเครื่องมือช่วยให้บริษัทได้เปรียบในฐานะสายการบินแห่งชาติ

<"">
  
<"">

นายสกนธ์ วรัญญวัฒนา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแนวคิด เพราะเกรงว่าอาจเป็นการมุ่งให้สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจ โดยเฉพาะกรณีของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

รายได้หลังการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2544-2552 สูงขึ้นชนิดก้าวกระโดด ซึ่งอาจเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ม.ค.46 อนุมัติแผนลงทุนท่อก๊าซเส้นที่ 3 ท่ามกลางข้อกังขาว่า คณะกรรมการบริหารบริษัทและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นนักธุรกิจการเมือง

แม้รัฐบาลต้องจัดระบบหนี้สาธารณะเพื่อระดมเงินกู้ลงทุนแก้ไขระบบบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ด้วยวิธีนี้ รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจะตอบสังคมให้ชัดเจนว่า หากแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งแล้ว จะป้องกันไม่ให้นักธุรกิจการเมืองฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์ จนกระทบผู้บริโภค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง