“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ช่วยลดจำนวนคนไม่ให้ล้มละลายกว่า 80,000 ครัวเรือน
สมาชิกชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกันถือป้ายเรียกร้องให้ นายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถอดถอน นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เนื่องจาก นพ.เอื้อชาติมีแนวคิดไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของ สปสช. จากกรณีที่ออกหนังสือเวียนไปถึง โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ระบุว่าไม่ให้เซ็นสัญญากับ สปสช. ในการกำหนดราคาการล้างไตเหลือ 1,500 บาท จากปกติ 2,000 บาท เพราะจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนได้กำไรลดลง
หลังยื่นหนังสือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จะให้เวลา 7 วันในการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง หากไม่คืบหน้า จะนำผู้ป่วยโรคไตกว่า 300 คน เข้ายื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
สำหรับการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุม มีวาระการประชุมเป็นการสรรหาคณะอนุกรรมการ สปสช.ชุดใหม่ ทั้งหมด 13 คณะ จำนวน 217 คน พร้อมกำหนดกรอบการทำงานของแต่ละคณะ
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยนายแพทย์ทิมโมที แกรนด์ อีแวน หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชากรถึง 47 ล้านคน หรือร้อยละ 75 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถลดภาระรายจ่าย และการปกป้องครัวเรือนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลที่สูง เห็นจากจำนวนการให้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นและอัตราการนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น
และยังพบว่าในปี 2553 จำนวนประชากรเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอยู่ในระดับต่ำมาก และช่วยให้ครัวเรือนไม่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 2538 เหลือร้อยละ 2.8 ในปี 2551 หรือประมาณกว่า 80,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังมีเสนอให้ผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ เพราะเป็นมาตรการลดปัญหาความยากได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่าการรวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นกองทุนเดียวเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ควรหาแนวทางทำให้แต่ละกองทุนลดความเหลื่อมล้ำการให้บริการ