ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทางรอด…ภัยพิบัติ ต้องจัดการที่ฐานราก

26 ม.ค. 55
11:25
26
Logo Thai PBS
ทางรอด…ภัยพิบัติ ต้องจัดการที่ฐานราก

ปัญหาภัยพิบัติไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นปัญหาของชาติที่ต้องร่วมกันแก้ไขและฟื้นฟู เริ่มจากตัวเองก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ฐานที่ใหญ่และกว้างขึ้น

ศ.นพ. ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูปประเทศ ในเวทีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่ 6 เรื่องการจัดการวิกฤติจากมหาอุทกภัยโดยชุมชนท้องถิ่น ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวเรื่องการจัดการภัยพิบัติว่า ไม่มีเจดีย์ใดสร้างจากยอด ฉะนั้นต้องสร้างจากฐานก่อน ฐานต้องมาสร้างกันจากชุมชนท้องถิ่นก่อน นี่เป็นความคิดก่อเกิดแนวคิดปฎิรูปประเทศไทย ชุมชนจัดการตัวเอง ท้องถิ่นจัดการตัวเอง หากมีความสามารถในการจัดการตัวเองของชุมชน ก็จะทำให้ท้องถิ่นมีความมั่นคง
 
“จากอุทกภัยหรือที่เรียกมหาอุทกภัย น้ำท่วมเกิดความเสียหายมากมาย แต่สิ่งที่ได้เกินกว่าความเสียหาย สิ่งที่ได้คือความช่วยเหลือกัน มันเป็นการกระตุ้นเมล็ดพันธุ์ในหัวใจคนที่ผู้คนช่วยกัน มันหาไม่ได้ ภาพอย่างนี้ ซื้อขายไม่ได้”
 
ด้าน ทวีป จูมั่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ได้กล่าวถึงภัยพิบัติจากน้ำท่วมที่หัวไผ่ว่า การจัดการกับน้ำท่วมเปรียบเหมือนกับการประกาศศักดิ์ศรีในการแก้ไขปัญหา เมื่อน้ำเจ้าพระยาเป็นที่สันดอนจึงไม่มีพื้นที่พอจะรับน้ำจากเขื่อนได้ ถ้าไม่มีใครมาช่วยเรา เราต้องช่วยตัวเองให้ได้ สิ่งที่ชาวบ้านเรียนรู้จากภัยธรรมชาติคือการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
 
“คนในท้องถิ่นต้องช่วยตัวเอง ต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ของตัวเอง สิ่งที่รู้เลยคือปัญหาไม่ใช่ปัญหาของใคร ต้องมีการช่วยกัน ต้องรู้จักการกระจายอำนาจลงไป มีการประชุมแบ่งกลุ่มความรับผิดชอบ ของมาแจกต้องไม่ข้างคืน เพราะจะทำให้เกิดปัญหาได้ เราถามชาวบ้านว่าพื้นที่ไหนจะสู้ แม้สู้แล้วไม่สำเร็จ แต่ถ้าเขาอยากสู้เราก็ให้เขาสู้ เป็นสมาชิกอบต.และข้าราชการท้อไม่ได้”
 
ส่วนด้านมหาวิทยาลัยแล้ว ราชภัฎนครปฐมก็เป็นอีกพื้นที่ซึ่งมีการจัดการกับปัญหาน้ำท่วม โดย สมเดช นิลพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาการบริหารจัดการเกี่ยวกับน้ำท่วมได้มีการแบ่งส่วนการทำงานเป็นภายในและภายนอก อย่างภายนอกคือการช่วยเหลือชาวบ้านเช่น เอาข้าวสารอาหารแห้งที่ใส่บาตรมาบริจาค เมื่อน้ำท่วมมาล้อมรอบมหาวิทยาลัยก็มีการส่งนักศึกษาไปช่วยขนย้ายของ
เมื่อน้ำเริ่มท่วมสูงขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ศูนย์อพยพต่างๆ ถูกน้ำท่วม จากการตระหนักถึงความเดือดร้อนและเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นจึงต้องการช่วยเหลือ
“เราช่วยเพราะเห็นเขาความเดือดร้อน เราตระหนักว่าเราเป็นมหาลัยที่ต้องทำงานกับท้องถิ่น เราทำกันอย่างนี้ และเห็นจุดร่วม หากรอข้าราชการเหมือนการเดินอ้อม แต่สิ่งที่ช่วยได้ดีคือส่วนภาคประชาชน”
 
ทางมหาวิทยาลัยจึงได้มีการก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้อพยพภายในมหาวิทยาลัย และมีการสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นเพราะโรงพยาบาลหลายแห่งน้ำท่วม จึงมีการรับคนเข้ามาอยู่ในศูนย์  แม้เริ่มแรกจะเป็นการแก้ไขปัญหาไปเป็นวันต่อวัน แต่เมื่อคนเยอะขึ้นก็ได้มีการจัดการแบบแยกผู้ป่วย ผู้ที่มาพักที่มีสัตว์เลี้ยงมาด้วยก็ให้พักในเต้นท์ด้านล่าง
ภาพเหล่านี้ทำให้เห็นการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมและคนในชุมชนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาและสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาคือประเทศไทยต้องไม่ทอดทิ้งกัน น่าจะสำรวจใครที่ถูกทอดทิ้งบ้างและก็มีอาสาสมัคร ใครจะมี ศูนย์การศึกษาภัยพิบัติ ก็จะเบาแรงท้องถิ่น เราอยากเห็นทุกมหาวิทยาลัยทำข้อมูลและเรื่องอาสาสมัคร ต้องมีคนที่อยากเป็นอยากเข้าร่วม คนดีๆ มีอยู่ แต่ไม่มีใครดึงมารวมตัวกัน ใครทำอะไรได้ต้องช่วยกัน อีกอันที่เห็นชัด ตามปกติทางมหาลัยอยู่นอกสังคม ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ร่วมทุกข์ ไม่เกิดการแก้ไขทางปัญญา น้ำท่วมมหาวิทยาลัยเข้ามาทำให้เกิดความคิด หวังว่าตรงนี้มหาวิทยาลัยจะปรับตัวเข้ามาทำงานกับสังคม อย่าลอยตัวแยกจากกัน ศ.นพ. ประเวศ กล่าวเสริม

ด้าน สมคิด สิริวัฒนากุล ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน กล่าวถึงการจัดการภัยพิบัติแม้ที่โคราชน้ำไม่ท่วม แต่ก็ได้มีการสำรวจข้อมูล และสร้างเรือกว่า 50 ลำในการรองรับ พร้อมกับแสดงความกังวลเรื่องการจัดการถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน

“ปีนี้น้ำไม่ท่วม เราก็ไปช่วยเครือข่าย เรือที่ทำไว้เราให้ยืม เราก็ระดมสิ่งของช่วยเหลือได้ข้าวสาร 25 ตันและได้ของอื่นๆ อีกก็จัดไป ผมเห็นว่าชุมชนเป็นแกนหลัก ถ้าเกิดวิกฤติ นักการเมืองจะมาแอบอ้างไม่ได้ เพราะเราเป็นขบวนชุมชน จากบทเรียนเราก็มาสรุปบทเรียนกัน เรื่องการจัดการท้องถิ่นรัฐเป็นคนสนับสนุน กองทุนชาวบ้านทำรัฐสนับสนุน การประกาศชัดเจน และทำแผน เรื่องงบประมาณรัฐจัดงบลงไปต้องเอื้อต่อชุมชน และสุดท้ายคือชุมชนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมทุกระบวนการในการจัดการภัยพิบัติ”
“อย่าเรียนแบบ แต่ให้เรียนรู้” แก้ว สังข์ชู กรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป มีความเห็นสอดคล้องกันว่า สิ่งที่เป็นกังวลที่สะท้อนออกมาให้เห็นคือเรื่องถุงยังชีพ และกระสอบทราย

 “การแจกถุงยังชีพเพื่อน้ำท่วม เป็นสิ่งที่เห็น และอีกสิ่งที่แย่ที่สุดคือกระสอบทรายคือทุกตำบลต้องทำกั้นน้ำ ถ้านายกไม่ทำแย่ วันนี้เราจะจัดการอย่างไร พิมพ์เขียนออกมาว่าต้องจัดการทำฝาย ทำให้คนในพื้นที่กลัวน้ำ มันมีผลกระทบต่อความมั่นคงเรื่องอาหาร ถ้าขาดน้ำตาย วันนี้เราเสนอว่าให้เกิดพื้นที่ลุ่มน้ำ และเอาน้ำไว้ บริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ใช่เอาน้ำออกมาให้หมด สุดท้ายวันนี้เราต้องสร้างคนในชุมชนจัดการเอง วัด โรงเรียน ต้องร่วมกันโดยใช้องค์ความรู้ภายในที่ตกทอดมาแต่รุ่นไหน สุดท้ายวันนี้เราเชื่อมั่นว่าองค์กรท้องถิ่นจัดการได้”

เช่นเดียวกับ โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวถึงการที่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมว่า “ไม่รับถุงยังชีพไปด้วย เพราะเรารอให้เขามาแจก ถ้าวันหนึ่งไม่มาแจกเราจะทำอย่างไร วันนี้ท้องถิ่นเรือเองก็ต้องจัดการ เราต้องเตรียมทุกเรื่อง อาหารการกิน ยา ชุมชนต้องกล้าอย่ารับถุงยังชีพ เราต้องมีภูมิคุ้มกัน”

 ศิวโรฒ จิตนิยม รองนายกอบต.หนองสาหร่ายและที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสาหร่าย ได้ให้ความคิดเห็นเช่นกันว่า “ชีวิตเราอยู่กับน้ำจะทำอย่างไรให้น้ำอยู่กับเรา ไม่มากหรือน้อยเกินไป วิธีการดูแลน้ำมี 2 ส่วน ถ้ามีที่ให้น้ำอยู่ก็ไม่มีปัญหาถึงเวลาเก็บเราจะเก็บอย่างไร และระบายอย่างไรให้มีประสิทธ์ภาพ เก็บไว้ คลอง บึง เก็บน้ำตามธรรมชาติ และสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวดำริ คือแก้มลิง ทำให้สัตว์น้ำเยอะขั้น ส่วนที่สองต้องพึ่งรัฐ ผมมองว่าเราไม่ต้องสร้างเขื่อนได้ไหม อันใดที่มีอยู่แล้วทำให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ขุดคลองที่มีอยู่แล้ว ลึก กว้าง ถ้าทำอย่างนี้เก็บน้ำได้ ซึ่งถ้าเราทำได้สองส่วน ความมั่นคงทางอาหารได้ สิ่งที่ได้ตามมาคือการขนส่งทางน้ำ ซึ่งถ้าอย่างนี้เป็นไปได้ก็จะทำให้การจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ศ.นพ. ประเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การขับเคลื่อนอะไรที่ถูกต้องก็ควรช่วยกันทำขึ้น ซึ่งผมอยากเพิ่มการบ้าน คือการสร้างสระน้ำประจำครอบครัว และบวกกับแม่น้ำลำคลอง ก็จะเก็บน้ำ ผมก็ไม่รู้ว่าเงินก็มีในหลายส่วน แต่ทำไมไม่มีการขุดคลอก คูคลอง เราก็จ้างคนไปทำให้คนมีงานทำ มีรายได้ แม่น้ำลำคลองไหลคล่อง”

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ให้ความเห็นว่าควรให้มีการตรวจสอบพื้นที่ชุมน้ำของชุมชน แล้วออกข้อบัญญัติเดียวกับพื้นที่ป่าชุมชน
 
อย่างไรก็ตาม ธาดา อำพิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า จ.อุทัยธานี กล่าวว่าชุมชนได้มีการจัดทำแผนเรื่องการจัดการคลอง มีการเวนคืน ขุดให้ลึกและกว้าง “เราจัดทำแผน ที่ อบจ. มีรถขุดเราจัดการขุด คนงาน น้ำมันใช้งบประมาณสวนที่เรามี อุทัยธานีเราแล้ง แต่พอเราขุด มันมีความชื้น ชาวบ้านก็จะได้กินผัก เหมือนเราสร้างพื้นที่ป่าให้กับชุมชน เราจะทำอย่างไรให้เราใช้งบประมาณน้อยที่สุด ถ้าเราจับมือกันแก้ปัญหาต่างๆ เราก็แก้ได้ เราต้องทำข้อมูลและก็มีเครือข่าย”
 
ดังนั้น ศ.นพ. ประเวศ กล่าวโดยสรุปว่า “ความเข้มแข็งอยู่ที่ท้องถิ่น ไม่ว่าข้างบนแย่ขนาดไหน อยากให้สังเคราะห์ คนที่มีอำนาจไม่มีความรู้ คนที่มีความรู้คือชุมชนท้องถิ่น เชิงนโยบายต้องโอนมาอยู่ที่ท้องถิ่น สิ่งสำคัญมันอยู่ที่การศึกษาไทย ศูนย์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สิ่งสำคัญคือทำให้เขารู้ข้างล่าง”
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง