นักอนุรักษ์ฯบราซิล ย้ายสัตว์หนีโคลนตะกอนเหมืองแร่
วันนี้ (23 พ.ย.2558) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบราซิล เฝ้าสังเกตการณ์การวางไข่ของเต่าหัวค้อนริมชายฝั่งของรัฐเอสปีรีตูซานตู ที่กำลังจะต้องเผชิญกับโคลนตะกอนจากเขื่อนเหมืองแร่ ที่จะไหลมาถึงยังบริเวณดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ อาสาสมัครจากหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เริ่มย้ายปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ออกจากแม่น้ำ และย้ายรังที่เต่าวางไข่ไว้ไปยังบริเวณที่ปลอดภัย จากผลกระทบของโคลนตะกอนตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากโคลนตะกอนจากเขื่อนเหมืองแร่ อาจมีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งจะทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลงและทำให้น้ำมีความเป็นกรดมากขึ้น จนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมได้
ขณะที่น้ำที่เต็มไปด้วยกากแร่จำนวน 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิกจำนวน 25,000 สระ พร้อมกับโคลนตะกอนสีส้มเข้ม เริ่มไหลทะลักเข้าสู่แม่น้ำโดซี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนเป็นเป็นสีส้ม ส่งผลให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง และเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงไม่มีน้ำสะอาดใช้ทำการเกษตร
นักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า สารประกอบที่พบในกากแร่ที่เกิดจากการทำเหมือง ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ตำรวจสิ่งแวดล้อมบราซิลจะติดตามบันทึกความเสียหาย ที่เกิดจากเหตุเขื่อนเหมืองแร่แตกในครั้งนี้ และรายงานต่ออัยการที่รับผิดชอบคดีเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ในขณะนี้ แต่บริษัทเหมืองแร่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูทั้งหมด