ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อนาคตพลังงานไทยหลังขายหุ้น ปตท.

29 ม.ค. 55
13:31
12
Logo Thai PBS
อนาคตพลังงานไทยหลังขายหุ้น ปตท.

แนวคิดการขายหุ้นบริษัท ปตท. เพื่อเป็นบริษัทเอกชนแทนรัฐวิสาหกิจ ได้ถูกสังคมแสดงความวิตกที่อาจต้องใช้เชื้อเพลิงในราคาที่แพงขึ้น จากปัจจุบันที่รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ได้แสดงบทบาทเป็นผู้ที่คอยควบคุมราคาจำหน่ายภายในประเทศ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมายบางคนกลับเห็นว่าการแปรรูปจะช่วยลดการทุจริตคอร์รัปชั่นจากฝ่ายการเมืองที่ต่างหมุนเวียนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และระบบบรรษัทภิบาล จะทำให้การทำงานมีความโปร่งใสเช่นกัน

เกือบ 2 สัปดาห์กับแนวคิดให้กองทุนวายุภักษ์เข้าซื้อหุ้นบริษัท ปตท. และบริษัทการบินไทย เพิ่มร้อยละ 2 เพื่อให้ 2หน่วยงานพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และไม่ต้องนับรวมหนี้ที่มีเข้ารวมอยู่ในหนี้สาธารณะ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและนำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานทั้ง 2 องค์กร รวมถึงสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

สำหรับ ปตท.ในฐานะเป็นองค์กรด้านพลังงานแห่งชาติ ถูกสังคมแสดงความเป็นห่วงว่าความเป็นเอกชนทำให้รัฐบาลต้องลดบทบาทการควบคุม ปตท.ลง นั่นหมายถึงการแทรกแซงราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซทำได้ยากขึ้น เห็นได้จากการหยั่งเสียงกลุ่มตัวอย่างของกรุงเทพโพลล์ที่สำรวจพบว่าร้อยละ 77 ไม่เห็นด้วยกับการขายหุ้น ปตท.ให้กองทุนวายุภักย์ และร้อยละ 44 กลัวกับการต้องจ่ายค่าพลังงานแพงขึ้นในอนาคต

ปตท.เป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของไทย ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการดูแลราคาเชื้อเพลิงทั้งก๊าซและน้ำมัน ในฐานะผู้ค้าน้ำมันขายปลีกรายใหญ่ที่สุดมาโดยตลอด ด้วยจำนวนสถานีบริการกว่า 1,100 แห่งทั่วประเทศ ไม่นับรวมปั๊มอิสระที่รับน้ำมันจาก ปตท.อีกหลายพันแห่ง มีสัดส่วนการจำหน่าย 1 ใน 3 ของยอดจำหน่ายทั้งหมด ทั้งนี้ รัฐบาลมักกำกับให้ ปตท.เป็นผู้ค้ารายสุดท้ายที่จะขึ้นราคาหากตลาดโลกราคาขยับสูงขึ้น

ส่วนก๊าซแอลพีจีที่ออกมาโรงแยกก๊าซทั้ง 6 หน่วยของปตท. ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการใช้ทั้งหมดถูกบังคับขายที่ตันละ 333 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อไม่ให้กระทบราคาจำหน่ายปลีก แม้ราคาตลาดจะทะยานไปถึง 900 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เอ็นจีวีสถานีบริการกว่า 400 แห่ง เป็นของ ปตท.ทั้งหมด และจำหน่ายตามราคาที่ตรึงไว้ตั้งแต่ปี 2545 ที่กิโลกรัมละ 8 บาท 50 สตางค์ ล้วนมาจากนโยบายรัฐบาลที่เข้าไปแทรกแซง ปตท.ทั้งสิ้น

แต่ในมุมของรศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายธุรกิจเห็นว่าการแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนจะช่วยลดการคอร์รัปชั่นในภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองต่างผลัดเปลี่ยนครอบงำการบริหารงานของ ปตท. ผ่านบอร์ดบริหาร และรัฐมนตรีพลังงาน และสุดท้ายผลประโยชน์ตกอยู่กับฝ่ายการเมือง

รศ.สุธรรมระบุว่าแม้การแปรรูปเป็นภาคเอกชนจะขาดหน่วยงานรัฐอย่าง ปปช. และ สตง. เข้ามาตรวจสอบ แต่การมีผู้ถือหุ้นที่หลากหลาย จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางบรรษัทภิบาล และการตรวจสอบเชิงพาณิชย์นโยบาย หรือคอมเมอเชียล โพลิซี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ได้รับประโยชน์ในลำดับสุดท้าย

ขณะที่กลุ่มการเมืองสีเขียวที่มีนายสุริยใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงานเรียกร้องให้จับตาบทบาทกลุ่มทุนพลังงานที่โยงธุรกิจการเมืองที่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ ปตท.เป็นเครื่องมือแสวงหากำไร และผลประโยชน์ด้านพลังงาน จึงยืนยันที่จะคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ พร้อมทวงคืนหุ้นที่กระจายไปก่อนหน้าให้กลับมาเป็นของรัฐ เนื่องจากพลังงานเป็นสิ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคง หน่วยงานที่ดูแลจึงต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ

เช่นเดียวกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่เตรียมเข้าพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการขายหุ้นครั้งนี้ หลังได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมมาก่อนหน้านี้แล้ว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง