ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ร้องปิดห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ หวั่นหนังสือหายากหาย-ระบุจะทำเป็นดิจิทัล

24 พ.ย. 58
02:46
420
Logo Thai PBS
ร้องปิดห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ หวั่นหนังสือหายากหาย-ระบุจะทำเป็นดิจิทัล

ปิดใช้ห้องสมุดสถาบันวิจัย มช. หลังเปิดให้บริการมากว่า 30 ปี ผู้บริหารแจงเตรียมปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ ด้านนักวิจัยกังวลหนังสือ เอกสารสำคัญที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่นจะสูญหายหากปิดให้บริการ

“ไทยพีบีเอสออนไลน์” รับร้องเรียนจากนักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี ที่ใช้บริการห้องสมุดของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า หลังจากผู้ดูแลห้องสมุด สถาบันวิจัยสังคม เกษียณอายุราชการ เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ไม่มีผู้ดูแลห้องสมุด สถาบันจึงหยุดให้บริการ เมื่อสอบถามไปยังสถาบัน ทราบว่าผู้อำนวยการคนใหม่ มีนโยบายจะปิดห้องสมุดดังกล่าว ซึ่งบรรดานักวิจัยและนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และบุคคลทั่วไป ที่ใช้บริการอยู่ได้รับผลกระทบและมีความกังวลใจ เนื่องจากห้องสมุดดังกล่าวเป็นที่ค้นคว้าของนักวิจัยและผู้ที่กำลังศึกษาจำนวนมาก ประกอบกับมีเอกสารที่มีคุณค่าอยู่มาก และหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์จึงสอบถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องและนักวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงกรณีการปิดใช้ห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม โดยไม่มีกำหนดดังกล่าว
      

<"">
      
วันนี้ (24 พ.ย.) นางวรารักษ์ พัฒนเกียรติพงษ์ ผอ.สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ยังไม่ได้มีการปิดห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคมแต่อย่างใด แต่จะมีการปรับเปลี่ยนการให้บริการในรูปแบบที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานของของผู้ใช้บริการ และมีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ห้องสมุดจะมีโอกาสเผยแพร่ข้อมูลไปยังผู้ใช้ให้มากที่สุดและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

“หนังสือในรูปแบบเล่มก็ไม่ได้ทิ้งไป ซึ่งจะทำควบคู่กันกับหนังสือที่เป็นลักษณะดิจิทัล ซึ่งเป็นในลักษณะเชิงรุก ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นว่าจะต้องมาที่ห้องสมุด อยู่ที่ไหนก็สามารถใช้บริการได้ สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน” นางวรารักษ์กล่าว

คำว่าห้องสมุดตอนนี้ความหมายกว้างมาก ไม่เหมือนสมัยก่อน เดี๋ยวนี้คำว่าห้องสมุดต้องมีคำว่า สารสนเทศ ติดบ่วงมาด้วย เพราะมันไม่ใช้เป็นห้องสมุดที่เป็นอาคาร มันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะมาก การจัดการของสถาบันวิจัยสังคมในรูปแบบใหม่มองว่าจะทำอย่างไรให้นักวิจัยได้ประโยชน์มากที่สุด

    

<"">

จากการสอบถาม ดร.กรวรรณ สังขกร นักวิจัย (ชำนาญการพิเศษ) กลุ่มท้องถิ่นและภูมิภาคศึกษา ประจำสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทราบว่า ตามนโยบายที่ผู้บริหารสถาบันวิจัยสังคมเห็นว่า ควรมีการปิดห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคมนั้น เพื่อที่จะทำเป็นห้องสมุดเสมือน (visual library) โดยจะนำหนังสือในห้องสมุดไปไว้ตามห้องสมุดต่างๆ ซึ่งหากเป็นทำอย่างนั้น ก็กลายเป็นว่า จะไม่มีพื้นที่สำหรับนักศึกษา นักวิจัย หรือคนใช้บริการที่มาใช้บริการ

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ การคืนหนังสือที่ยังตกค้างอยู่ ต้องไปคืนตามจุดที่เป็นที่มาของหนังสือแทน และสิ่งที่กังวลคือ หนังสือที่ซ้ำกับห้องสมุดที่อื่นๆ แล้วอาจจะไม่มีความจำเป็นและอาจจะถูกทำลาย

“ หากห้องสมุดต้องปิดตัวไปจริง รู้สึกเสียดายคุณค่าทางวิชาการ เพราะตั้งแต่แรกไม่ได้เป็นห้องสมุด แต่เป็นศูนย์เอกสารหายากของสถาบัน ช่วงหลังหนังสือมีมากขึ้นๆ จึงให้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการให้เป็นระบบเดียวกับมหาวิทยาลัย คนภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในสถาบันก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยใช้วิธีการยืมคืน แบบระบบมหาวิทยาลัย หากต่อไปไม่มีห้องสมุดนี้แล้ว ก็ควรจะมีการจัดห้องหนังสือเล็กๆ ให้มีการยืมคืนหนังสือกันเฉพาะของกลุ่ม โดยที่คนนอกก็อาจจะไม่มีโอกาสเข้าถึงได้” ดร.กรวรรณกล่าว

ด้าน นางสุรีย์ บุญญานุพงศ์ นักวิจัยเชี่ยวชาญ ประจำสถาบันวิจัยสังคม กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ห้องสมุดได้ปิดตัวไป ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากบรรณารักษ์คนเก่าเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ก.ย. โดยที่ไม่ทราบเหตุผลของการปิดดังกล่าว ทราบแต่เพียงว่า ยังไม่มีคนที่จะเข้าแทนบรรณารักษ์ที่เกษียณอายุไปเลยปิดไว้ก่อน สร้างความรู้สึกแปลกใจให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการซึ่งเป็นนักศึกษา นักวิจัย จำนวนไม่น้อยต่อการปิดห้องสมุดอย่างกระทันหันดังกล่าว

ห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคมถือได้ว่าเป็นห้องสมุดเฉพาะทาง หนังสือก็เป็นหนังสือที่ค่อนข้างเฉพาะ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2518 โดยกลุ่มคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ภายในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อผลิตและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยด้านสังคมล้านนาคดี จัดรวบรวมเอกสารสิ่งพิมพ์ หนังสือ งานวิจัยและแหล่งความรู้ทางวิชาการ เพื่อการค้นคว้าวิจัย ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ รวมไปถึงการรวบรวม องค์ความรู้จากชุมชน ท้องถิ่นมาเก็บรวบรวมไว้ อาทิ คัมภีร์ใบลาน เอกสาร จารึกโบราณ ต่างๆ ไว้โดยได้รับการ สนับสนุนจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิ และหน่วยงานภายนอก

“การปิดห้องสมุดอย่างกระทันหันสร้างความกังวลให้กับนักวิจัยว่า หนังสือที่มีในห้องสมุด ซึ่งเป็นเอกสารที่เก่าแก่หายาก จะถูกทำลายหรือสูญหายไป เพราะจะมีการจัดการหนังสือเหล่านี้โดยการกระจายหนังสือไปตามห้องสมุดต่างๆ ทำให้หนังสือที่นักวิจัยสะสมกันมายาวนานตั้งแต่แรกๆ อาจไม่ได้รับการดูแลหรือเสียหาย โดยก่อนหน้านี้ทราบว่า ห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม จะมีการปรับเปลี่ยนห้องสมุดให้อยู่ในระบบออนไลน์ และให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคมมีฐานข้อมูลคำภีร์ใบลาน ซึ่งการอ่านคำภีร์ใบลานแต่ละผูกแต่ละหน้าลานไม่ได้อ่านเหมือนการเปิดพจนานุกรม ต้องเทียบกับหลักฐานอื่นๆ ว่าใบลานผูกนี้พูดเรื่องอะไร รวมกันอยู่หรือไม่เพราะฉะนั้นหากมีการนำขึ้นระบบออนไลน์ จะไม่รู้เลยว่าภูมิปัญญาความรู้ที่มีมันถูกหรือผิด การให้บริการผ่านระบบออนไลน์ใช่ไม่ได้กับเอกสารบางส่วน ห้องสมุดยังไงก็เป็นพื้นที่จำเป็นของนักศึกษา ถึงแม้เราจะใช้ระบบออนไลน์ยังไงก็ตามนักศึกษาก็ต้องมีพื้นที่สำหรับค้นคว้า” นางสุรีย์กล่าว

    

<"">

ทางด้าน นางนงนุช กันธมา อตีดเจ้าหน้าที่บริการห้องสมุดสถาบันวิจัย เปิดเผยว่า ห้องสมุดปิดตัวลงหลังจากที่ตนเกษียณได้เพียง 1 วัน รู้สึกตกใจ และแปลกใจว่าเพราะอะไรจึงต้องปิดห้องสมุดลง ทั้งที่เปิดให้บริการมากว่า 30 ปี และก็ยังมีการเข้ามาใช้บริการของนักวิจัยอย่างปกติ ตนเข้ามาอยู่ห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคมได้เพียง 4 ปี แต่กลับรู้สึกผูกพันกับที่นี้เป็นอย่างมาก

การเข้ามาทำงานในช่วงแรกยังไม่มีระบบจัดการหนังสือต่างๆ ห้องสมุดก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ต้องเริ่มจัดวางทุกอย่างใหม่หมด ทั้งระบบยืม-คืน จัดเก็บหนังสือขึ้นชั้น ตนเป็นเจ้าหน้าที่คนเดียวที่ดูแลที่นี่ ช่วงแรกคิดว่าจะทำไม่ได้แต่ก็อยากที่จะพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง ซึ่งกว่าจะปรับเปลี่ยนห้องสมุดเดิมได้ใช้เวลาเกือบ 3 เดือน

“ไม่อยากให้ปิดห้องสมุด เพราะมีเอกสารที่สำคัญเยอะทั้งแผนที่ เอกสาร คำภีร์ใบลาน และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน อย่างไรก็ตามหากมีการใช้ระบบออนไลน์เข้าใช้ในการเก็บรวบรวมหนังสือ แทนหนังสือฉบับจริงก็ไม่สามารถที่จะทดแทนกันได้ เพราะผู้ใช้ต้องการเอกสารที่เป็นตัวจริงมากกว่าในรูปแบบออนไลน์ รูปแบบการค้นคว้าที่เป็นหนังสือมันจะละเอียดกว่า เพราะในรูปแบบดิจิทัลหรือออนไลน์ บางครั้งจะเป็นแบบย่อๆไม่เต็มรูปแบบ ทางมหาวิทยาลัยควรมีการพูดคุยกันทุกฝ่าย ไม่ใช่เป็นการพูดคุยกันเอง เพื่อเป็นการหาทางออกที่เหมาะสม” อดีตเจ้าหน้าที่บริการห้องสมุดสถาบันวิจัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามได้พยายามติดต่อไปยังผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง