เกษตรฯ ออกกฎนำเข้า “ผลไม้สด” ใหม่ คุมเข้มแมลงศัตรูพืช
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปี 2555 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งปรับปรุงกฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าผลไม้สดเพิ่มเติมอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวม 52 รายการ
โดยเป็นผลไม้สดจากสหรัฐฯ จำนวน 9 รายการ อาทิ สตรอเบอรี่ แอปเปิล เชอรี่ แอปริคอท พลัม ท้อ เนคทารีน สาลี่ และองุ่น
นิวซีแลนด์ 7 รายการ เช่น กีวี พลับ สตรอเบอรี่ แอปเปิล อะโวกาโด แอปริคอท และเชอรี่
ญี่ปุ่น 9 รายการ ได้แก่ แตงโม กีวี พลับ สตรอเบอรี่ แอปเปิล เชอรี่ ท้อ สาลี่ และองุ่น
สาธารณรัฐเกาหลี 7 รายการ ได้แก่ ส้ม พลับ สตรอเบอรี่ แอปเปิล ท้อ สาลี่ และองุ่น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชกักกันซึ่งอาจติดมากับสินค้านำเข้า และแพร่ระบาดสร้างความเสียให้กับแหล่งเพาะปลูกภายในประเทศได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเตรียมนำกฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้สดจากแคนาดาและฝรั่งเศสที่ปรับปรุงใหม่ เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกักพืชพิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2555 ส่วนกฎระเบียบการนำเข้าผลไม้สดจากชิลีนั้น กรมวิชาการเกษตรจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบระบบการผลิตและตรวจรับรองศัตรูพืชก่อนส่งออกอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แล้วจะเร่งวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชและดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบฯให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการกักพืชพิจารณาและประกาศบังคับใช้ต่อไป
“แมลงศัตรูพืชกักกันจากชิลีที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ไรแดงองุ่น ซึ่งถือเป็นศัตรูพืชกักกัน หากปล่อยให้เล็ดลอดเข้ามาภายในประเทศ แมลงศัตรูพืชดังกล่าวอาจมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และแพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับแหล่งปลูกองุ่นของไทยได้ ดังนั้น ประเทศผู้ส่งออกต้องมีระบบควบคุมและจัดการศัตรูพืชก่อนส่งออกที่เชื่อถือได้ จึงจะอนุญาตให้นำเข้า” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
นายจิรากรกล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป(EU) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ได้หยิบยกมาตรการสุขอนามัยพืช(SPS)ขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าเกษตรแพร่หลายมากขึ้น การที่ประเทศไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบและหลักเกณฑ์การนำเข้าผลไม้สดเข้มงวดมากขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงและปกป้องแหล่งเพาะปลูกของไทยจากแมลงศัตรูพืชร้ายแรง ขณะเดียวกันยังเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ ทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดีและมีความปลอดภัย นอกจากนั้นยังช่วยให้เกิดการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ ทั้งตลาดส่งออกและนำเข้าด้วย