ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ตีปีกไม่ต้องรับผิด“จีเอ็มโอ” จวกครม.เมินสศช.-พณ.ติงกระทบเกษตรกร

26 พ.ย. 58
03:13
349
Logo Thai PBS
ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ตีปีกไม่ต้องรับผิด“จีเอ็มโอ” จวกครม.เมินสศช.-พณ.ติงกระทบเกษตรกร

ผอ.ไบโอไทยระบุกรณีครม.ผ่านร่างพ.ร.บ.คุมจีเอ็มโอ เอื้อประโยชน์ให้บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์มากกว่าเกษตรกร และความหลากหลายทางชีวภาพ เปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่รับผิดชอบกับความเสียหายในการดัดแปลงพันธุกรรม

วันนี้ (26 พ.ย.) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ....ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะควบคุมเรื่องการทดสอบการดัดแปลง ตัดต่อ พันธุกรรมพืช หรือจีเอ็มโอ การผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปโดยเร็ว จะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทที่เป็นเจ้าของจีเอ็มโอ บริษัทเมล็ดพันธุ์ แต่จะไม่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์ กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน กลุ่มธุรกิจอาหารท้องถิ่น และธุรกิจอาหารอีกหลายกลุ่ม รวมทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค จะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรม

“เป็นการเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้เอาไว้เลย ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยกำหนดให้ต้องมีการรับผิด เฉพาะกรณีความเสียหายเกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยเท่านั้น” นายวิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้เนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ปล่อยให้มีการทดลองได้ง่าย และไม่ได้ปกป้องสิทธิของเกษตรกร ผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เป็น Non-GMO ซึ่งต่างจากมติ ครม.เมื่อ 25 ธ.ค.2550 ที่เขียนการควบคุมการทดลองไว้อย่าเข้างวดมาก

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีระบุว่า หลายหน่วยงานมีความเห็นสอดคล้องกัน ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมถึงหน่วยงานราชการ ถึงร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การส่งเสริมจีเอ็มโอจะเป็นการจำกัดตลาดของไทยให้แคบลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศและเกษตรกรในทุกมิติ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้นำเข้างานทดลองเป็นรายกรณี แต่ก็ยังมีการปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ ซึ่งจะกระทบต่ออาหารและพืชผลทางการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค้าได้

นอกจากนี้การดำเนินการในทุกขั้นตอนของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม เกษตรกรรายย่อย นักวิชาการอิสระที่ติดตามหรือศึกษามีความเชี่ยวชาญในเรื่องทรัพยากรชีวภาพ และตัวแทนขององค์กรผู้บริโภค เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและเป็นตัวแทนที่จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในคณะต่างๆ เพื่อเข้ามาปรับปรุงร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ดีขึ้น และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กับเกษตรกรรมอินทรีย์และทรัพยากรของชาติในภาพรวมในประเทศ แต่ที่ผ่านมาจะเป็นการแต่งตั้งโดยหน่วยงานราชการ

ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถีและสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดประชุมเพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่อง พืชส่งออก อาหารแปรรูปไปยังต่างประเทศ เพื่อมาวิเคราะห์ร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง ก่อนที่จะยื่นหนังสือเพื่อให้มีการชะลอ และการแก้ไขในมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

     

<"">
                     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ วันที่ 24 พ.ย.2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1.กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
2.กำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมหรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่ที่ได้จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือวิธีการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นยาสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ตามที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว
4.กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกลาง ในการกำกับดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัด ทส. เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสิบสองคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินสิบคน โดยมีเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ
5.กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ
6.กำหนดให้รัฐมนตรีผู้รักษาการมีอำนาจประกาศกำหนดให้หน่วยงานใดของกระทรวงหรือทบวงในราชการส่วนกลาง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และกำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมตามพระราชบัญญัตินี้
7.กำหนดหลักการควบคุมการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ในลักษณะที่ห้ามมิให้มีการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ สู่สิ่งแวดล้อม เว้นแต่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวจะได้ผ่านการใช้ในสภาพควบคุมและการใช้ในภาคสนาม เพื่อทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ การประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ และได้มีการขึ้นบัญชีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้แล้ว
8.ในกรณีผู้ได้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งได้กำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้หากผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยงานรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้
9.กำหนดให้มีกระบวนการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของหน่วยงานผู้รับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ผู้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือเสนอต่อคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สิ้นสุด
10.กำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นผลมาจากการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่อยู่ในบัญชีปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้เสียหายนั้นเอง
11.กำหนดโทษทางอาญาทั้งโทษจำคุกและโทษปรับมาใช้บังคับแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
12.กำหนดบทเฉพาะกาลให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือบุคคลใดที่ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้องขออนุญาต หรือต้องขอรับใบอนุญาต หรือต้องแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบกิจกรรมนั้นต่อไป ให้มายื่นคำขอรับอนุญาตหรือคำขอรับใบอนุญาต หรือแจ้งต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยระบุว่า พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้น มี 9 ประเด็นสำคัญที่ชี้ว่า ผู้เสนอร่างกฎหมายนี้มีเจตนาที่ต้องการเปิดเสรีจีเอ็มโอ โดยไม่กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน (Pre-Cautionary Principle)
2. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม
3. ร่างกฎหมายฉบับนี้โดยหลักการคือการเปิดเสรีจีเอ็มโอ
4. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
5. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
6. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากจีเอ็มโอในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
7. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่พืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อน
8. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุหลักประกันทางการเงินกรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอ
9. ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง

ต่อมาวันที่ 13 พ.ย. น.ส.นันทวัน หาญดี ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ประเทศไทย, เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ และเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอการนำร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และไม่เข้าร่วมกับความตกลง TPP

             

<"">

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพื่อขอความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไปนั้น

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ดังรายนามผู้ลงนามในจดหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ได้ติดตามพัฒนาการและเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมานับตั้งแต่ พ.ศ.2544 เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเนื้อหาที่บกพร่องอย่างร้ายแรงทั้งในเชิงกระบวนการพัฒนากฎหมายและเนื้อหา ดังต่อไปนี้

1.สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากการพิจาณาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 เนื่องจากมีการรวบรัดส่งไปให้พิจาณาอย่างเร่งรีบ และมีเนื้อหาที่เขียนเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบในกรณีที่เกิดความเสียหายจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) และคณะกรรมการยกร่างและกระบวนการร่างกฎหมายนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมอย่างไม่อาจยอมรับได้
2.ร่างกฎหมายนี้ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรียังคงมีความบกพร่องอย่างร้ายแรงซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร วิถีชีวิตเกษตรกร ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และจะทำลายเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารอย่างมิอาจประเมินมูลค่าได้ มีรายละเอียดดังนี้
2.1.มีเจตนาเพื่อเปิดเสรีพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) โดยมิได้นำหลักการที่สำคัญ ‘หลักการที่ว่าด้วยความปลอดภัยไว้ก่อน’ ในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีมาปรับใช้ในการปกป้องความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการบริโภคพืชจีเอ็มโอ เช่น มะเร็ง ปกป้องทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
2.2.เปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์สามารถปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างเสรี และไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)
2.3.มีเจตนาให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) อย่างแพร่หลาย ทำให้พืชจากเกษตรอินทรีย์อาจถูกปนเปื้อนจากพืชจีเอ็มโอ และทำให้สินค้าทางการเกษตรส่งออกของไทยต้องประสบปัญหาในการส่งออกในที่สุด
2.4.ทำให้ความหลากหลายของชีวภาพของแผ่นดินไทยตกอยู่ในการผูกขาดของอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลุกในฤดูกาลถัดไปได้ ต้องซื้อใหม่ทุกรอบการผลิต ที่สำคัญเกษตรกรไม่สามารถขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ แบ่งปันเชื้อพันธุ์ตามวิถีการผลิตที่เคยเป็นมาได้เลย ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิเกษตรกรและซ้ำเติมชะตากรรมให้เลวร้ายขึ้นไปอีก
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามท้ายจดหมายฉบับนี้ขอนำเรียน ฯพณฯ เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
1) หยุดการนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
2) จากนั้นมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำร่างพ.ร.บ.นี้ไปจัดรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรรายย่อย ภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ และภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น โดยนำหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precaution Principle) การป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การชดเชย และเยียวยาความเสียหายตามหลักผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) การป้องกันปัญหาการปนเปื้อนซึ่งจะกระทบต่อการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ และทรัพยากรชีวภาพของชาติโดยภาพรวม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย มาบรรจุในร่างกฎหมายฉบับนี้
3) ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ขอให้ ฯพณฯ มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 25 ธันวาคม 2550 มาเป็นแนวทางในการอนุญาตให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม ตามข้อเสนอของ "คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย" ได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557
การอนุญาตให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดและการปลูกจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ มีโอกาสจะสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย เกษตรอินทรีย์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และผลต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศดังที่ประเทศในสหภาพยุโรปมากกว่า 16 ประเทศประกาศแบน และผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในยุโรป(และมากกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา) ปฏิเสธอาหารที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นต้น
4) นอกจากนี้ท่ามกลางการสร้างกระแสจากภาคธุรกิจส่งออกให้รัฐบาลพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) โดยอ้างว่า ไทยจะตกขบวนและเสียประโยชน์ทางการค้านั้น ซึ่งในความตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาที่จะบังคับให้ไทยยอมรับการเปิดเสรีพืชจีเอ็มโอและเปิดช่องให้อุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ขอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการพิจารณาเรื่องนี้ จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ยไมพร คงเรือง
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง