ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผอ.เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ยันยังมีพื้นที่เพียงพอในการรองรับน้ำ

Logo Thai PBS
ผอ.เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ยันยังมีพื้นที่เพียงพอในการรองรับน้ำ

ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ยืนยันว่า ยังมีพื้นที่เพียงพอในการรองรับน้ำ และในขณะนี้มีคำสั่งให้เริ่มระบายน้ำได้มากขึ้นแล้ว ขณะที่กรมชลประทาน เตรียมนำแผนดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ หรือ กยน.พิจารณาในวันพรุ่งนี้

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะทำงานจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำหลัก และแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยได้ทบทวนเกณฑ์แผนการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ กำหนดเป้าหมายการระบายน้ำในฤดูแล้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2,842 ล้านลูกบาศก์เมตร ในเดือนมีนาคม 3,038 ล้านลูกบาศก์เมตร และเดือนเมษายน 3,090 ล้านลูกบาศก์เมตร

รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุอีกว่า แผนบริหารน้ำดังกล่าว กรมชลประทานจะเสนอแผนเข้าที่ประชุม กยน.ให้รับทราบในวันพรุ่งนี้ (3 ก.พ.) โดยตามแผนจะตั้งสมมติฐานปริมาณน้ำฝนเท่ากับปีที่แล้ว และหากการบริหารจัดการทำได้ตามแผน จะทำให้สามารถลดการท่วมขังลงไปได้ครึ่งหนึ่ง แต่ยังมีข้อกังวล และเป็นอุปสรรค คือเรื่องของพื้นที่น้ำนอง เพราะมาตรการการบริหารจัดการน้ำ ลดการท่วมขังในพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่เมือง อาจทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ทุ่งรับน้ำเร็วขึ้น จากที่ปีที่แล้วน้ำเริ่มท่วมในเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม แต่ปีนี้อาจจะเร็วขึ้น หรือเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ก็จะมีน้ำท่วมขังแล้วแต่มีพื้นที่ที่ไม่มากนัก

ขณะที่ นายณรงค์ ไทยประยูร ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เปิดเผยว่าเขื่อนได้ปรับแผนในการระบายน้ำสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนเป็น 60 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่มีการระบายน้ำอยู่ที่ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามนโยบายของ กยน. ซึ่งจะไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำปิงสามารถรองรับการไหลของน้ำได้มากกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ขณะนี้เขื่อนได้ปล่อยน้ำให้ไหลเพียง 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ยอมรับว่า พื้นที่ลุ่มน้ำในบริเวณต่ำอาจได้รับผลกระทบ ระดับน้ำอาจจะปริ่มตลิ่ง แต่ยังไม่ล้นตลิ่ง ขณะที่เขื่อนภูมิพลยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,140 ล้าน ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 15.09

ด้านนายธนะรัชต์ ภูมิมะกสิกร ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เขื่อนสิริกิติ์ได้ปรับการระบายน้ำจาก 45 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้การระบายน้ำดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนอย่างแน่นอน เนื่องจากเขื่อนสิริกิติ์ในช่วงอุทกภัยได้ระบายน้ำมากถึง 50-60 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ในทางตรงกันข้ามจะส่งผลดีต่อเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในระยะนี้ เนื่องจากจะมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรนอกฤดู

ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างอยู่ที่ประมาณ 7,700 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่าง สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า ร้อยละ 19


ข่าวที่เกี่ยวข้อง