นับถอยหลัง
รองเท้าหลายพันคู่ถูกนำไปวางเรียงกันที่จตุรัสใจกลางกรุงปารีสเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนประชาชนที่ต้องการออกมารณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน แต่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศภาวะฉุกเฉินหลังเหตุโจมตีกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2558 และสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยมีรองเท้าของบุคคลสำคัญ เช่น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และบุคคลที่มีชื่อเสียงรวมทั้งดารานักแสดงและนักออกแบบชื่อดังอีกหลายคน
ขณะที่ในนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ประชาชนจำนวนมากออกไปร่วมเดินขบวนตามถนนพร้อมกับชูป้ายที่มีข้อความเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอสซิลและหันกลับมาใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน เช่นเดียวกับหลายประเทศในทวีปเอเชีย ประชาชนในกรุงโซลของเกาหลีใต้และกรุงธากาของบังคลาเทศต่างออกมาร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้บรรดาผู้นำและตัวแทนจาก 195 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
ขณะที่ชาวอินโดนีเซียหลายร้อยคนเข้าร่วมการเดินขบวนไปตามถนนในกรุงจาการ์ตาเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามันยุติการแผ้วถางป่าอย่างผิดกฎหมายจนทำให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษจากไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อการคมนาคม การท่องเที่ยวและสุขภาพของประชาชน
การเดินขบวนรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ มีขึ้นก่อนที่การประชุม COP 21 ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศสจะเริ่มต้นขึ้นในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) โดยประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การหาหนทางจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ล่าสุดผู้แทนจาก 183 ประเทศจากทั้งหมด 195 ประเทศทั่วโลกที่จะเข้าร่วมการประชุมคอป 21 ได้มีการออกแผนการทำงานระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว
ด้านรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดเพื่อป้องกันเหตุร้ายระหว่างการประชุม COP 21 โดยจะจัดกำลังตำรวจและทหาร 2,800 นาย ตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยรอบสถานที่จัดการประชุม ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส และได้สั่งเสริมกำลังตำรวจและทหารเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยบริเวณชายแดนอีก 8,000 นาย จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 120,000 หมื่นนาย
ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงกรุงปารีสของฝรั่งเศสเพื่อเตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค. โดยนายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่พร้อมร่วมมือกับนานาชาติในการแก้ปัญหาโลกร้อนและมุ่งเน้นการพัฒนาควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
การประชุมในครั้งนี้นอกจากผู้นำที่เข้าร่วมจะมีโอกาสแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาต่างๆ แล้ว ยังเป็นการให้กำลังใจฝรั่งเศส หลังเกิดเหตุโจมตีกรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2558 ด้วย