วันนี้ (30 พ.ย.2558) นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปี 2559 จะเปลี่ยนจากที่เก็บภาษีตามความจุกระบอกสูบมาเป็นการเก็บภาษีตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งจะมีผลให้การเสียภาษีรถยนต์ใหม่มีทั้งปรับลดลงเท่าเดิมและปรับเพิ่มขึ้นโดยรถยนต์ที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถยนต์กระบะและรถยนต์นั่งขนาดใหญ่
ขณะที่หากคิดจากฐานราคารถยนต์ที่ขายกันอยู่ปัจจุบันในส่วนของรถกระบะ หากปล่อยก๊าชคอนไดออกไซด์ ไม่เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร จะเสียภาษีในอัตราเดิมร้อยละ 3 แต่ส่วนใหญ่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน ทำให้เสียภาษีอัตราร้อยละ 5 หรือต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นคันละ 8,000 -15,000 บาท ส่วนรถเก๋งเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1800 ซีซี ส่วนใหญ่เสียภาษีอัตราร้อยละ 30 เพราะปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร แต่รถยนต์เครื่อง 1800 ซีซีจะปล่อยเกิน 150 กรัม/กิโลเมตร ทำให้เสียภาษีเพิ่มเป็นร้อยละ 35 หรือเสียภาษีเพิ่มขึ้นคันละ 60,000-170,000 บาท และหากปล่อยก๊าชคารบอนไดออกไซด์ เกินก็จะเสียภาษีเป็นร้อยละ 40 หรือเสียภาษีเพิ่มคันละ 230,000 บาท
ผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย ระบุว่า โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะทำให้ผู้บริโภคเร่งตัดสินใจซื้อในสิ้นปีนี้ ก่อนที่ราคารถจะปรับขึ้นาราคา ซึ่งการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายยังไม่มีการออกมาประกาศปรับราคาเพราะอยู่ระหว่างการศึกษาการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและรอดูคู่แข่ง
ขณะที่ผู้บริหารบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า รถยนต์นั่งขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปรับโครงสร้างภาษีจึงคาดว่าภายในสิ้นปี 2558 จะมียอดจองเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้ยอดขายปี 2559 ของรถยนต์ในกลุ่มดังกล่าวจะชะลอตัว
ทั้งนี้ในวันที่ 1 ธ.ค.2558 มหกรรมยานยนต์จะเปิดฉากขึ้นสำหรับสื่อมวลชนและวีไอพีก่อนที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 2-13 ธ.ค.2559 ซึ่งปีนี้คาดการณ์กันว่าตลาดจะคึกคักเป็นพิเศษทั้งตัวสินค้าที่มีรถรุ่นใหม่ รุ่นปรับปรุงโฉม หรือรุ่นพิเศษ บวกกับการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายที่ร้อนแรงและการอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของภาษีสรรพสามิตที่กำลังจะปรับไปใช้ภาษีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2559