ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
วันนี้ (30 พ.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และนายคัมภีร์ สมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล ปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณี การจัดสัมมนา จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 แต่ไม่มีการจัดสัมนาขึ้นจริง
สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวบรวมพยานหลักฐานและสรุปความเห็นเสนออัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง คุณหญิงจารุวรรณ และนายคัมภีร์ ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีจัดให้มีการสัมมนาขึ้นที่ จ.น่าน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการสัมมนากันจริง แต่ให้บุคคลที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนาไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สามารถเบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายได้
ล่าสุดศาลอนุญาตให้ ทั้ง 2 คนประกันตัวแล้ววงเงินคนละ 200,000 บาท ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่ยืนยันว่าดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย
คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดของคุณหญิงจารุวรรณและ นายคัมภีร์ สมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องเมื่อเดือนตุลาคม 2557
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่าง 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม 2546 เริ่มต้นจากนายคัมภีร์ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการและคณะอนุกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานใน จ.น่าน มีกำหนดวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ขณะที่คุณหญิงจารุวรรณ ได้อนุมัติโครงการสัมนา เรื่อง สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีการจัดขึ้นวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ที่โรงแรมในจังหวัดน่านด้วยเช่นกัน ซึ่งคำบรรยายฟ้องระบุด้วยว่าจำเลยทั้ง 2 จัดสัมมนาในช่วงวันเดียวกับวันถวายผ้าพระกฐิน และให้บุคคลที่จะถวายผ้าพระกฐิน รวมทั้งวางแผนนำรายชื่อเจ้าหน้าที่ สตง.ที่เข้าร่วมถวายผ้าพระกฐินมีรายชื่อเป็นผู้เข้าร่วมสัมมนารวมอยู่ด้วย
เมื่อมีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการสัมนาในวันดังกล่าว พบความผิดปกติทั้งเรื่องการมาบรรยายของ ส.ว.น่าน ขณะนั้นไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามหัวข้อที่จัดไว้ และสอดคล้องกับคำให้การของเจ้าหน้าที่โรงแรมที่ระบุด้วยว่าก่อนถึงวันสัมมนา 3 วัน มีเจ้าหน้าที่ สตง. ติดต่อทางโทรศัพท์ขอยกเลิกการจัดงาน
ในเดือนพฤศิจกายน 2546 ยังพบว่านายคัมภีร์ มีการเสนอโครงการสัมมนาลักษณะเช่นเดียวกันกับที่เคยเสนอเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จึงทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาจัดสัมมนาตั้งแต่ต้น
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสองย่อมเล็งเห็นตั้งแต่ต้นว่าไม่สามารถจัดงานถวายผ้าพระกฐินในวัน-เวลาเดียวกันได้ และจากคำให้การพยานบางปากทราบว่าผู้ร่วมสัมมนามีการจัดเตรียมชุดขาวไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าการจัดสัมมนานั้นเป็นเท็จ เพราะมีวัตถุประสงค์ให้เดินทางไปร่วมงานถวายผ้ากฐินเป็นหลัก
การกระทำของจำเลยเพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการเดินทางและค่าที่พักในการถวายผ้าพระกฐินอันเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยไม่มีสิทธิเบิกจ่ายโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อเป็นการอำพรางนำเงินงบประมาณจำนวน 294,440 บาท มาเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นโดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ มาตรา 83