ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลปกครองพิจารณาคดี “เขื่อนไซยะบุรี” ตุลาการให้ยกฟ้องเครือข่ายปชช.ลุ่มน้ำโขง

สิ่งแวดล้อม
30 พ.ย. 58
05:18
692
Logo Thai PBS
ศาลปกครองพิจารณาคดี  “เขื่อนไซยะบุรี” ตุลาการให้ยกฟ้องเครือข่ายปชช.ลุ่มน้ำโขง

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีชาวบ้านฟ้องเขื่อนไซยะบุรี ที่สร้างในลาว และขายไฟฟ้าให้กฟผ.ของไทย ระบุส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกประเทศในลุ่มน้ำโขง

วันนี้ (30 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลปกครอง ตัวแทนชาวบ้านจาก 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นำโดย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนชาวบ้าน พร้อม กลุ่มทนายความ กลุ่มอนุรักษ์เข้าฟังการพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุด ในคดีเขื่อนไซยะบุรี ที่ตัวแทนชาวบ้าน 37 คน ยื่นฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 จากข้อกังวลเรื่องกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และขอให้เพิกถอนการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นางสาว ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า นำข้อมูลใหม่เรื่องผลกระทบจากน้ำในแม่น้ำโขงแห้ง จนไม่เพียงพอต่อการทำประปาของจ.นครพนม และปัญหาน้ำขุ่นในเขตอ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งสันนิษฐานว่า จะเป็นผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จถึงร้อยละ 80 โดยชาวบ้านมั่นใจว่า การพิจารณาครั้งแรกของศาลปกครอง มีความสำคัญในการชี้ชะตาโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,270 เมกกะวัตต์ ที่จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง จึงได้รับความสนใจจากนักอนุรักษ์ระดับโลก ซึ่งการพิจารณาคดีครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ตุลาการศาลปกครองจะได้พบคู่ความเป็นครั้งแรก และเป็นโอกาสที่ผู้ฟ้องคือ ตัวแทนชาวบ้านจาก 37 คน จะชี้แจงผลกระทบและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้าศาลเป็นครั้งแรกด้วย

นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวต่อว่า ศาลปกครองรับฟ้อง เฉพาะที่ขอให้ผู้ถูกฟ้อง คือผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างเขื่อนพลังน้ำไซยะบุรี ดำเนินการตามกฎหมาย คือ ขอให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าการที่ศาลปกครองนัดพิจารณาครั้งนี้ จะทำให้การพิจารณาคดีเร็วกว่าทุกครั้งที่เคยได้ดำเนินการฟ้องคดีกับหน่วยงานรัฐ

ด้าน นางสอน จำปาดอก ชาวบ้านโพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ผู้ฟ้องคดี คนที่ 37 กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี มาตั้งแต่ปี 2554 ทำให้รายได้จากการหาปลาลดลง เหลือเพียงปีละ 10,000 บาท จากเดิมมีรายได้ปีละ 50,000 บาท และพอจะหันมาทำการเกษตรริมน้ำโขงก็ประสบปัญหาน้ำท่วมอีก

ต่อมา น.ส. ส.รัตนมณี แถลงข่าวภายหลังเข้าฟังการพิจารณาคดีว่า ตุลาการศาลปกครอง ให้ถ้อยคำแถลง ในการพิจารณาคดีที่เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 37 คนฟ้องผู้เกี่ยวข้องโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 5 รายครั้งแรกว่า เห็นควรให้ยกฟ้อง เนื่องจากมองว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่โครงการของรัฐไทย เป็นการดำเนินการโดยประเทศลาว ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็น ปชช. ครบถ้วนแล้ว ตามกฎหมายของประเทศลาว ไม่ใช่สิ่งที่ศาลจะก้าวล่วงอธิปไตยของประเทศลาวได้

นอกจากนี้ ตุลาการยังให้ความเห็นว่า โครงการเขื่อนไซยบุรีได้ดำเนินการตามหลักกติกาที่ใช้ในการจัดการแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน เช่น การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง กับประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขง หรือ PNPCA ซึ่งมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในประเทศเวียดนามและกัมพูชา รวมถึงไทยครบถ้วนแล้ว และไม่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายระหว่างพรมแดน ทำให้ไม่มีตุลาการศาลปกครองมองว่าไม่มีข้อกำหนดที่จะมาดำเนืนการตามคำฟ้อง จึงเห็นว่าควรให้ยกฟ้องชาวบ้านทั้ง 37 ราย

ทั้งนี้ คำแถลงของตุลาการ เป็นเพียงความเห็น ซึ่งต้องรอการพิจารณาของผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง



ข่าวที่เกี่ยวข้อง