ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครบรอบ 1 ปี กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ยุค "รัฐบาลประยุทธ์"

ภูมิภาค
1 ธ.ค. 58
12:02
383
Logo Thai PBS
ครบรอบ 1 ปี กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ยุค "รัฐบาลประยุทธ์"

วันนี้ (1 ธ.ค.2558) เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพบปะหารือกับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งผู้นำทั้งสองตกลงที่จะขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย วันนี้เมื่อหนึ่งปีที่แล้วจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพูดคุยรอบที่สองระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

หนึ่งปีผ่านไปมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
"อาบู ฮาเฟซ อัล ฮากิม" สมาชิกมาราปาตานี บันทึกไว้ในบทความ "หนึ่งปีการพูดคุยสันติภาพ เราอยู่ตรงจุดไหน?" เผยแพร่ในเว็บไซต์ deepsouthwatch.org ว่า หลังจากผู้นำทั้ง 2 ประเทศตกลงที่จะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขแล้ว คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายพบกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นการพบกันอย่างเป็นไม่เป็นทางการและไม่เปิดเผย (first informal secret meeting) โดยที่ตัวแทนรัฐบาลไทยนำโดยพล.อ.อักษรา เกิดผล พร้อมด้วยนายพลจากกองทัพบกหนึ่งคน และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกหนึ่งคน ส่วนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไทย ในนาม "มาราปาตานี" นำโดยอาวัง ยาบัต ประธานมาราปาตานีพร้อมด้วยคณะอีกหกคน

อาบู ฮาเฟซ บอกว่าการพบปะกันครั้งนั้นเป็นการแนะนำตัวทั้งสองฝ่าย และให้คำมั่นว่าจะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป นอกจากนี้พล.อ.อักษราแจ้งให้ฝ่ายตัวแทนผู้เห็นต่างว่าคณะพูดคุยของเขาได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีและเป็นช่องทางพูดคุยอย่างเป็นทางการเพียงช่องทางเดียว ขณะที่นายอาวัง ยาบัต แจ้งฝ่ายไทยว่าคณะของพวกเขาประกอบด้วยตัวแทนหลายกลุ่มมาร่วมพูดคุยในนาม "มาราปาตานี"

การพบปะกันครั้งต่อมาจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 8 มิ.ย.2558 ซึ่งนับเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 1 ฝ่ายรัฐบาลไทยนำโดยพล.อ.อักษรา ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือ "ปาร์ตี B" นำโดยอุสตาซมูฮัมหมัด สุกรี ฮารี และมีดาโต๊ะซัมซามิน ฮัสชิม ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกเข้าร่วมพูดคุยด้วย ในโอกาสที่เทศกาลรอมฎอนใกล้มาถึง พล.อ.อักษราเสนอให้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐร่วมมือสร้างพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) ในช่วงเดือนรอมฎอน แต่ฝ่ายมาราปาตานี ไม่รับปากเต็มปากเต็มคำ บอกแต่เพียงว่าจะรับไว้พิจารณาแต่ไม่มีเงื่อนไขผูกมัดว่าจะร่วมมือหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าเหลือเวลาอีกเพียง 10 วันก็จะเข้าสู่เดือนรอมฎอนและการพูดคุยสันติสุขก็ยังเป็นเพียงแค่การพูดคุยไม่เป็นทางการกล่าวคือยังอยู่ในช่วงสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (confident building stage)

การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 25 ส.ค.2558 หลังจากนั้น 2 วัน สำนักงานอำนวยความสะดวกการพูดคุยของรัฐบาลมาเลเซียได้เชิญสื่อมวลชนจากประเทศไทยให้ไปพบปะพูดคุยกับมาราปาตานี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ด้วย

ในการพบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2558 อาบู ฮาเฟซ โฆษกของมาราปาตานีเปิดเผยว่า มาราปาตานียื่นข้อเสนอกับฝ่ายรัฐบาลไทย 3 ข้อ คือ
1. ขอให้ฝ่ายรัฐบาลไทยยอมรับสถานะของมาราปาตานี โดยขอให้ใช้ชื่อเรียกพวกเขาว่า "มาราปาตานี" แทนคำว่า "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" หรือ "ปาร์ตี B"
2. ขอให้รัฐบาลไทยประกาศให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ
3. ขอให้รัฐบาลไทยให้ความคุ้มครองยกเว้นการดำเนินคดี (immunity) และอำนวยความสะดวกแก่คณะพูดคุยของมาราปาตานี เวลาที่เดินทางเข้าประเทศไทย

ขณะเดียวกันคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยก็มีข้อเสนอให้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐพิจารณา 3 ข้อ เช่นกัน คือ
1. ขอให้ร่วมมือสร้างพื้นที่ปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ขอให้มีการกำหนดพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. ขอให้มีการสร้างหลักประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึงถ้วนหน้า  

ขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้แม้แต่ข้อเดียว การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 3 ก็จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 11-12 พ.ย.2558 โดยครั้งนี้เป็นการพูดคุยชุดเล็ก ฝ่ายรัฐบาลไทยนำโดยพล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยฯ และฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไทยนำโดยอุสตาซมูฮัมหมัด สุกรี ฮารี

พล.ท.นักรบได้เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการร่วม เพื่อให้ทุกฝ่ายคือตัวแทนรัฐบาลไทย ตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐไทย และผู้อำนวยความสะดวกจากรัฐบาลมาเลเซีย ร่วมกันพิจารณาประเด็นทางเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการพูดคุยสันติสุข แต่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า การพูดคุยยังไม่ยกระดับเป็นทางการ ที่ประชุมจึงตกลงร่วมกันพิจารณา Term of References (ToR) หรือระเบียบข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ซึ่งสำนักงานอำนวยความสะดวกการพูดคุยของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้จัดทำร่าง ToR อย่างไรก็ตามเนื่องจากตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยและตัวแทนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทยยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในหลายประเด็นของ ToR ที่ประชุมจึงตกลงที่จะจัดให้มีการพูดคุยในระดับคณะทำงานทางเทคนิค (technical committee) ในโอกาสต่อไป

หนึ่งปีผ่านไปสันติภาพอยู่ที่ไหน
มองในด้านบวก แม้ว่าเหตุความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เสียงสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขและแนวทางสันติวิธีก็ดังเพื่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่สะท้อนออกมาจากการสำรวจทัศนคติประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งสำรวจในระหว่าง 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2558 ในพื้นที่ 19 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบร้อยละ 77 ยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

ขณะที่เหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนปีนี้ ก็ลดลงเทียบกับปีก่อนๆ สะท้อนให้เห็นความร่วมมือของฝ่ายผู้เห็นต่างๆ ที่ร่วมมือรับข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลไทยที่ขอให้ร่วมมือสร้างพื้นที่ปลอดภัยในเดือนรอมฎอน ซึ่งในบันทึกของอาบูฮาเฟซ ก็ระบุว่า พล.อ.อักษราได้กล่าวขอบคุณผู้แทนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐที่ให้ความร่วมมือลดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้

แม้ว่าขณะนี้การพูดคุยเพื่อสันติสุขยังไม่ยกระดับขึ้นเป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็มีแถลงการณ์จากสำนักประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น ปฏิเสธกระบวนการพูดคุยและทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้แม้แต่เรื่องเดียว แต่กระบวนการพูดคุยก็ยังดำเนินอยู่ แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีประเด็นที่ต้องพูดคุยเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะบริบททางประวัติศาสตร์ เช่น ฝ่ายมาราปาตานีต้องการให้ใช้คำว่า "ดินแดนปาตานี" เรียกขานพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้มีความหมายครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ รวมจังหวัดสงขลา และสตูลด้วย

อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง