กรมชลประทานเชื่อน้ำท่วมบางพื้นที่ใน จ.อยุธยา คลี่คลายใน 10 วัน
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า การระบายน้ำจากเขื่อนส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำน้อยสูงขึ้นประกอบกับมีน้ำที่เหลือใช้จากการเกษตรในพื้นที่ของ 2 อำเภอนี้ไหลมาสมทบจึงทำให้มีน้ำมากและไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ
รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ขณะนี้ได้แก้ปัญหาแล้วด้วยการลดระดับน้ำที่ปากแม่น้ำน้อยลงจาก 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเหลือ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่คลองสาขาลดปริมาณน้ำลงเหลือ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจาก 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 อำเภอกลับสู่ภาวะปกติภายใน 10 วัน
แต่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ กรรมการ กยน. วิเคราะห์ว่า การระบายน้ำจากเขื่อนปริมาณมากทำให้คลองสาขาที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นด้วย จึงแนะนำว่า การระบายน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ ควรเน้นปล่อยน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น เพราะ ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับน้ำได้อีก ขณะที่คลองสาขาระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำน้อยควรลดการระบายน้ำเข้า
ส่วนพื้นที่รับน้ำตามแผนของกยน.นั้นขณะนี้มีการศึกษาหาพื้นที่รับน้ำที่เหมาะสมจำนวน 2 ล้านไร่แล้ว คือ ทุ่งรับน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนครอบคลุมหลายอำเภอในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และ นครสวรรค์ พื้นที่กว่า 1,300,000 ไร่ ขณะที่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุมหลายอำเภอในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี มีพื้นที่ประมาณ 900,000 ไร่