เสียงสะท้อนของผู้ประเมินต่อ แนวนโยบายปัญหาการก่อการร้าย
นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตร Analysis of Polling, Policy, Law, and Economics หรือ A.P.P.L.E. ด้านการบูรณาการวาระประชาชน นโยบายสาธารณะ กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เพื่อนักศึกษาผู้สนใจทั่วไปสามารถเสนอแนะทางออกให้ภาครัฐและเอกชนผ่านพ้นวิกฤตขององค์กร ชุมชน และประเทศโดยส่วนรวม ด้วยการระดมคณาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของนานาประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยคอร์เนล มหาวิทยาลัยมิชิแกน และสถาบันการศึกษาและวิจัยของกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น เน้นปฏิบัติการเหนือตำรา การระดมสมองเชิงปฏิบัติการ (Workshop) งานวิจัย หลักทฤษฎีและการแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มประเทศอาเซียนผ่าน Colloquium ของหลักสูตร
การนี้ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 มีความกังวลต่อการก่อการร้าย ดังนั้นผู้ประเมินจึงได้สะท้อนเสียงต่อการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวนโยบายยุทธศาสตร์แก้ปัญหาการก่อการร้าย ดังต่อไปนี้
ประการแรก ส่วนใหญ่แล้วเป้าหมายของขบวนการก่อการร้ายเป็นเรื่องความรุนแรงทางการเมืองที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มพลเรือนที่บริสุทธิ์ แนวคิดนี้ระบุว่า กลุ่มก่อการร้ายยังคงเป็นกลุ่มที่มีหลักเหตุผลคือไม่ใช่พวกบ้าคลั่งแต่เป้าหมายแรกคือต้องการประกาศให้สาธารณชนรับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาจำเป็นต้องโต้ตอบด้วยความรุนแรง พวกเขาถูกปฏิบัติเหมือนกับพวกเขาไม่มีความเป็นมนุษย์ ในอดีตเมื่อการก่อการร้ายปฏิบัติการสำเร็จมักจะมีการประกาศให้สาธารณชนรับรู้ว่าเป็นผลงานของพวกเขา “ยิ่งผลของการก่อการร้ายสร้างความน่าสะพึงกลัว ยิ่งสื่อมวลชนกระพือข่าวขึ้นหน้าหนึ่งทุกฉบับ ทีวีกระแสหลักทุกช่องให้ความสำคัญ วิทยุทุกคลื่นนำมาเล่าสู่ขยายความ ยิ่งเป็นการเพิ่มความสำเร็จให้กับกลุ่มขบวนการการก่อการร้ายทำให้สมกับความมุ่งหวังของพวกเขา”
ประการที่สอง แนวคิดการรักษาความสงบและความมั่นคงโดยมียุทธศาสตร์สำคัญอยู่ที่ความพยายามหยุดยั้งขบวนการการก่อการร้ายด้วยการทำให้พวกเขาตระหนักว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะกระทำการก่อการร้ายและพวกเขาจะต้องได้รับโทษที่รุนแรง มักจะตั้งอยู่บนฐานคติที่ว่า พวกขบวนการการก่อการร้ายเป็นกลุ่มคนที่รู้จักใช้เหตุผล ที่จะคิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง พรรคพวกเครือข่ายคนใกล้ชิดของพวกเขา ประเทศชาติของพวกเขาที่เป็นผลมาจากการปฏิบัติการของพวกเขา แต่แนวคิดดังกล่าวนี้เปลี่ยนไปเมื่อค้นพบว่ามีกลุ่มขบวนการการก่อการร้ายอีกจำนวนมากที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของพวกเขาและไม่คิดถึงผลเสียที่จะตามมากับเครือข่ายพรรคพวกคนใกล้ชิดและประเทศชาติของพวกเขา เมื่อเกิดการยอมพลีชีพในเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ในสหรัฐอเมริกาและในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อีกหลายประเทศ
ประการที่สาม ยิ่งการปฏิบัติการก่อการ้ายที่เริ่มก่อตัวขึ้นและขยายระยะเวลาให้ยาวนานออกไป ยิ่งจะนำไปสู่การจัดวางกรอบเวลาที่เป็นเหมือนกับพิมพ์เขียวของขบวนการก่อการร้ายเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน โดยมุ่งหวังชี้ให้เห็นว่า “รัฐบาลไม่สามารถปกป้องดูแลความสงบสุขของประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้” “ต้องการทำลายความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อภาวะความเป็นผู้นำประเทศ” และ “ต้องการทำให้ประชาชนอยู่ท่ามกลางความกังวลและความไม่แน่นอนต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” ผลที่ตามมาคือ บรรดาผู้นำประเทศในระบอบประชาธิปไตยจึงมักจะได้รับผลกระทบที่เสียหายอย่างรุนแรงต่อปัญหาการก่อการร้ายมากกว่าบรรดาผู้นำประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ทางออกที่น่าพิจารณาคือ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์แรกที่รวดเร็วฉับไวและมีประสิทธิภาพในการเรียกความเชื่อมั่นของสาธารณชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศกลับคืนมา
แต่การกระทำเช่นนั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนทั่วไปโดยส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าการโต้ตอบและความรวดเร็วฉับไวต่อปัญหาการก่อการร้ายเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้นอาจกระทบต่อความสะดวกสบายและเสรีภาพบางประการของประชาชน เพิ่มการเฝ้าระวังและมีศูนย์รวมข้อมูลการตัดสินใจด้วยห้องวอร์รูมที่สำนักงานใหญ่ แต่ละกองบังคับการของกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีห้องวอร์รูมทั้ง 9 พื้นที่ มีกล้องซีซีทีวี มีการดักฟังโทรศัพท์ การแกะรอยแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย แหล่งฟอกเงิน เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเอ็กซ์เรย์วัตถุระเบิดและสารตั้งต้น การตั้งจุดตรวจค้นยานพาหนะของพลเรือนและรถโดยสารสาธารณะ การตรวจค้นด้วยสุนัขดมกลิ่นที่สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว และย่านธุรกิจ การส่งหน่วยชำนาญการพิเศษด้านการก่อการร้ายปะปนไปกับฝูงชน
การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารแต่งเครื่องแบบที่สง่างามแต่พร้อมอาวุธที่ทันสมัยดูดี ดูสมาร์ท ประจำจุดต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยว และการมีรถสายตรวจที่ทันสมัยเปิดสัญญาณไฟว่ากำลังเฝ้าระวังเหตุในจุดเสี่ยงสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน แต่ที่สำคัญสุดคือ การปฏิรูประบบการตรวจคนเข้าเมืองที่ทันสมัยแบบออนไลน์ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งเรื่องภาพถ่าย ลายนิ้วมือ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน DNA เป็นต้น
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการทำสงครามกับขบวนการก่อการร้ายและอาชญากรรมทุกรูปแบบคือ การป้องกันการโจมตี การจับกุมขบวนการก่อการร้ายได้ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนก่อนที่พวกเขาจะเริ่มปฏิบัติการ นั่นหมายถึง ความเชี่ยวชาญด้านการข่าว และความร่วมเป็นหูเป็นตาของประชาชน บนความใส่ใจและความรวดเร็วฉับไวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองและหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่เพิกเฉยต่อการแจ้งเบาะแสของประชาชน
นี่คือความรับผิดชอบสูงสุดของรัฐบาล ฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องหันกลับมาพิจารณาตนเองว่า ใส่ใจมากน้อยเพียงไรต่อการแจ้งเบาะแสและรวดเร็วฉับไวต่อการลงพื้นที่ที่ได้รับแจ้งเหตุ มีปฏิภาณไหวพริบต่อความผิดปกติของการเคลื่อนไหวรวมตัวกันของกลุ่มคน ยานพาหนะและการเคลื่อนย้ายวัตถุต้องสงสัยมากน้อยเพียงไร
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการหน่วยงานความมั่นคงอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีห้องวอร์รูมปฏิบัติการ 24 ชั่วโมงในช่วงที่มีการยกระดับความเสี่ยงสูง แต่ต้องลดการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวที่ไม่เข้าทางหรือไปตามเป้าหมายของขบวนการก่อการร้าย ต้องลดช่องว่างและทำลายกำแพงระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนกับประชาชนในชุมชนต่างๆ ที่ร่วมเป็นหูเป็นตาเป็นระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คลดความเสี่ยงต่อการก่อการร้ายและอาชญากรรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง