ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส.ต่อต้านโลกร้อนตั้งโต๊ะรับฟ้องคดีน้ำท่วมรอบ 3 ล่ารายชื่อก่อนยื่นฟ้องระงับพนังกั้นน้ำนิคมฯ

สังคม
24 ก.พ. 55
09:58
25
Logo Thai PBS
ส.ต่อต้านโลกร้อนตั้งโต๊ะรับฟ้องคดีน้ำท่วมรอบ 3 ล่ารายชื่อก่อนยื่นฟ้องระงับพนังกั้นน้ำนิคมฯ

ยืนยันแนวฟลัดเวย์ต้องออกกฎหมายรอนสิทธิและทำอีเอชไอเอ(EHIA) ตามรัฐธรรมนูญเสียก่อน ระบุต้นเดือนมีนาคมยื่นฟ้องศาลเพื่อระงับการสร้างเขื่อนและพนังกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมแน่นอน

นายศรีสุวรรณ  จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า เหตุจากความผิดพลาดล้มเหลว หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของรัฐบาลและหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเมื่อปี พ.ศ.2554 จนก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย เทือกสวน ไร่นา ทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ของประชาชนกว่า 65 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่างเรื่อยมาจนถึงภาคกลาง และภาคอีสานกว่า 3.5 ล้านครัวเรือนได้รับผลกระทบเดือดร้อนและเสียหายกันไปทั่วหน้า สิ้นเนื้อประดาตัวกันไปเกือบทั้งหมด ประชาชนเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 816 ศพ ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ (สศช.) ได้แถลงข้อมูลเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าเหตุดังกล่าว ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2554 ขยายตัวได้เพียง 0.1% (ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ว่าควรจะขยายตัว 3.8 %)

ขณะที่ ธนาคารโลกก็ได้ประเมินความเสียหายของทรัพย์สินจากอุทกภัยดังกล่าวไว้กว่า 600,000 ล้านบาท และรายได้หายไปกว่า 700,000 ล้านบาท รวมเป็นความเสียกว่า 1.4 ล้านล้านบาทด้วยเช่นกันล่าสุดมีข้อมูลที่เปิดเผยออกมาจาก กยน.ว่าได้กำหนดให้มีแนวพื้นที่น้ำผ่านหรือฟลัดเวย์ (Floodway) ขึ้นทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านตามแนวฟลัดเวย์ ไม่เคยรู้เรื่องและทราบข้อมูลใด ๆ มาก่อนเลย

อีกทั้งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยไปเจรจาจับเข่าคุยกับชาวบ้าน เพื่อบอกมาตรการชดเชยหรือเยียวยาที่เป็นธรรมก่อนเลย อีกทั้งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อรอนสิทธิ และกำหนดมาตรการชดเชยการรอนสิทธิในพื้นที่ต่าง ๆ ตามแนวฟลัดเวย์ในจังหวัดดังกล่าวเสียก่อน จึงจะสามารถทำได้ มิใช่ใช้ระบบมัดมือชกเยี่ยงนี้ ที่สำคัญโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวเป็นโครงการประเภทรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งต้องมีการทำอีเอชไอเอ (EHIA) เสียก่อน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ แต่หากรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเสียก่อนแล้ว เชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และแน่นอนว่าจะหาข้อยุติได้ยาก จนกระทั่งต้องมีการฟ้องร้องกันเยอะแยะเต็มศาลไปหมดแน่

การนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีสัมมนาเรื่อง มหาอุทกภัยอยุธยา : ทางออก ผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ขึ้นในวันอังคารที่ 28 ก.พ.55 นี้ เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องประชุม 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา งานนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะตั้งโต๊ะรับมอบอำนาจฟ้องคดีรอบที่ 3 เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยให้ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาให้ผู้เดือดร้อนทุกคนด้วย รวมทั้งล่ารายชื่อชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำรอบนิคมต่าง ๆ เพื่อนำไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อระงับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวในช่วงต้นเดือนมีนาคม ต่อไปด้วย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง