เหนือ-อีสาน เป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบตัดป่าสูง
จากสถิติการบุกรุกป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชพบว่า ในปี 2552 มีพื้นที่ป่าถูกบุกรุก 22,000 ไร่ ปี2553 ถูกบุกรุก 19,000 ไร่ และ ปีที่ผ่านมาถูกบุกรุก 16,652 ไร่ โดยภาคเหนือจะถูกบุกรุก เพื่อทำไร่หมุนเวียน ทำสวนยางพารา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นการลักลอบตัดไม้มีค่า คือ ไม้พะยูง และไม้กฤษณา ส่วนภาคใต้จะบุกรุกป่า เพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มและยางพาราซึ่งพบว่า มีพื้นที่ถูกบุกรุกแล้วกว่า 200,000 ไร่
ขณะที่ สถิติคดีเกี่ยวกับป่าไม้ ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 - 27 มกราคมที่ผ่านมา พบการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีป่าไม้ถึง 1,427 คดี แบ่งเป็น คดีบุกรุกพื้นที่ 511 คดี คดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า 155 คดี และคดีเกี่ยวกับไม้พะยูงมากถึง 360 คดี ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่า การจับกุมผู้กระทำผิดทั้ง 1,427 คดี ไม่ได้ตัวผู้ต้องหาถึง 986 คดี
ส่วนของกลางที่ตรวจยึดได้ ส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็งซึ่งเป็นไม้โตช้า อย่างไม้สัก และไม้พะยูง โดยเฉพาะไม้พะยูงพบในรูปของไม้พะยูงท่อน 1,299 ท่อน และถูกแปรรูปไปแล้ว 1,186 แผ่น ส่วนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกพบการบุกรุกทั่วประเทศ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีคดีการบุกรุกมากถึง 78 คดี คิดเป็นพื้นที่ 1,408 ไร่ อุทยานแห่งชาติดอยหลวงมีคดีการบุกรุก 19 คดี คิดเป็นพื้นที่ถูกบุกรุก 243 ไร่ อุทยานแห่งชาติคลองพนมมีคดีการบุกรุก 17 คดี คิดเป็นพื้นที่ถูกบุกรุก 113 ไร่
ขณะที่การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้นั้น กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อยู่ระหว่างการเตรียมประกาศแห่งใหม่ 25 แห่ง รวมพื้นที่ 6.1 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการตรวจสอบรังวัด และการสำรวจแนวเขตร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีอุทยานฯอีก 12 แห่ง ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว และป่างสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้อีก 37 แห่ง รวมพื้นที่ 1.9 ล้านไร่ ที่เตรียมผนวกเป็นพื้นที่ป่าของอุทยานฯใกล้เคียง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิของชาวบ้านในพื้นที่