เพียงได้กลับมาฟังเพลงเก่า ความทรงจำของคนรักเทปอย่าง พรรษชล นิวาทวงษ์ เหมือนได้กลับสู่ช่วงวัยที่ยังเป็นเด็กอีกครั้ง ซึ่งเสียงเพลงที่ประหนึ่งขึ้นไทม์ แมชชีน ย้อนสู่วันวาน มาจาก อนันต์ บุนนาค ในขณะที่ยังเป็นนักร้องหนุ่มขายผลงานได้ล้านตลับ
ยังมีผลงานที่หาฟังไม่ง่ายนักทั้ง Desire ของอัลบั้ม โก-อินเตอร์ปี 2536 ของ มณีนุช เสมรสุต หรือ Because I Love You อัลบั้มเพลงภาษาอังกฤษ 1 ใน 2 ชุดของ สาวสาวสาว วงเกิร์ลกรุ๊ปรุ่นบุกเบิกของไทย ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในงานรวมตัวคนรักเทปครั้งแรก Cassette Night Party ที่เจ้าของนำเทปคาสเซตทรงคุณค่ามาแบ่งปันกันฟัง ซึ่งมีผู้นำผลงานเพลงที่สะสมไว้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพลงไปด้วยกันนับพันตลับ
เรื่องราวเบื้องหลังของเทปคาสเซ็ตแต่ละชุด และการค้นพบศิลปินจากการเลือกซื้อเทปเพลงในอดีต เป็นแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังผลงานศิลปินศิลปาธรอย่าง นิกร แซ่ตั้ง ซึ่งยังคงเก็บเทปเพลงสุดรักไว้นับ 1,000 ตลับ
นอกจากนี้ ในยุค '90s เทปเพลงคือของสะสมคอเพลงตัวจริงเพราะราคาไม่สูง และสามารถพกไปฟังกับเครื่องเล่นวอล์คแมนได้สะดวก อีกทั้งยังมีบทบาทส่งเสริมธุรกิจเพลงให้เติบโตถึงขีดสุด แต่ค่านิยมของเทปเพลงคาสเซตที่ลดลงในปัจจุบัน ทำให้เครื่องเล่นเทปที่ใช้การได้แทบไม่มี การฟังเพลงผ่านเทปคาสเซตอีกครั้ง จึงกลายเป็นประสบการณ์แปลกใหม่
ปัจจุบัน เทปคาสเซตกลายเป็นสื่อบันทึกเสียงที่กำลังจะสาบสูญ แต่บางประเทศอย่างสหรัฐฯ ยังคงผลิตผลงานเพลงออกเป็นเทปคาสเซต แม้ว่าจุดประสงค์ต้องการให้เป็นของสะสมมากกว่าใช้ฟังในชีวิตประจำวัน แต่ได้พูดคุยกับคนคอเดียวกัน สัมผัสกับงานเพลงที่ตัวเองชื่นชอบ และได้ฟังเสียงกลไกอนาล็อคที่ทำงานส่งเสียงเพลงโปรด โดยมีเทปเพลงเป็นสื่อกลาง ก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองรักมากแล้ว