สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยให้คะแนนพึงพอใจผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ที่ 7.81 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่ารัฐบาลสอบผ่านในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยให้คะแนนที่ 7 คะแนน เนื่องจากเผชิญปัญหาจากเศรษฐกิจโลก และปัญหาอื่นๆ รุมเร้า ส่วนสวนดุสิตโพลเผยประชาชนร้อยละ 81.26 ระบุว่าจุดเด่นในการทำงาน คือเป็นรัฐบาลทหารทำงานรวดเร็ว เด็ดขาด จริงจัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 7,200 คน ระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถึงการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อผลการดําเนินงานในภาพรวมของรัฐบาลอยู่ที่ 7.81 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของประชาชน ร้อยละ 99.3 ระบุว่ามีความพึงพอใจมากที่สุด มาก ปานกลาง และน้อย
ขณะเดียวกัน พบว่าประชาชนสูงกว่าร้อยละ 90 ระบุว่าทราบเกี่ยวกับการดําเนินงานของรัฐบาล ได้แก่ การควบคุมสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคา 80 บาท ร้อยละ 98.1 ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่าเรื่องอื่น รองลงมา ได้แก่การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 96.9 และการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 92.7
ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ อยู่ที่ 7.72 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของประชาชนร้อยละ 98.9 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นมากที่สุด มาก ปานกลาง และน้อย
สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดําเนินการอย่างเร่งด่วนในขณะนี้ ได้แก่ การควบคุมสินค้าอุปโภค บริโภคไม่ให้มีราคาแพง ร้อยละ 53.2, การแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ร้อยละ 35.7, การแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 29.5, การแก้ปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 25.8, การปรับขึ้นค่าแรงให้เพียงพอกับค่าครองชีพ ร้อยละ 18.1 และการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 17.2
ขณะที่วันที่ 20 ธ.ค.2558 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,386 คน ระหว่างวันที่ 10-19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถึงการทำงานของรัฐบาลว่า จุดเด่นในการทำงาน ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 81.26 ระบุว่าเป็นรัฐบาลทหารทำงานรวดเร็ว เด็ดขาด จริงจัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี, ร้อยละ 73.12 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น ด้านคมนาคม รถไฟรางคู่ และร้อยละ 70.69 ระบุการสื่อสาร ชี้แจง สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนจุดอ่อนในการทำงาน ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 84.61 ระบุว่าต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำและปัญหาสังคมเสื่อมโทรม, ร้อยละ 78.03 คือการแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด รัฐมนตรีบางกระทรวงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ และร้อยละ 72.82 ระบุการสร้างความเชื่อมั่น ความสัมพันธ์กับต่างประเทศยังมีปัญหา
สำหรับผลงานรัฐบาลที่ถูกใจประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 77.60 ระบุว่าจัดระเบียบสังคม ปราบปรามยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญ เจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจัง เข้มงวดกวดขันมากขึ้น มีผลงานให้เห็นอย่างต่อเนื่อง, ร้อยละ 74.25 จัดกิจกรรมคืนความสุข, Bike For Dad, Bike For Mom เพราะแสดงถึงความจงรักภักดี เป็นกิจกรรมที่สร้างความสุข ความสามัคคีให้กับคนไทย และร้อยละ 70.18 การจัดการปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง เพราะไม่มีการชุมนุมประท้วงหรือออกมาเคลื่อนไหว ทำให้บ้านเมืองสงบสุข ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ
ส่วนผลงานที่ไม่ถูกใจประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 83.09 ระบุว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น การค้าการลงทุนหยุดชะงัก ข้าวของแพง รายได้ไม่เพียงพอ เป็นหนี้, ร้อยละ 76.51 สถานการณ์พืชผลทางการเกษตร ข้าว ยางพารา เพราะราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ไม่มีเงิน ไม่มีที่ทำกิน และร้อยละ 74.92 ความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน อาชญากรรม ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เพราะรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจในความปลอดภัย มีหลายคดีที่ไม่สามารถติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินการทำงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปี ได้ให้รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอยู่ที่ 7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยถือว่ารัฐบาลสอบผ่านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ภายใต้โจทย์การทำงานที่ยาก เนื่องจากต้องเผชิญปัญหาจากเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ต้นปีทั้งเศรษฐกิจกรีซ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว การก่อการร้าย และปัญหาระหว่างตุรกีและรัสเซีย ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยติดลบอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เช่น การอัดฉีดเงินสู่รากหญ้า ผ่านกองทุนหมูบ้าน และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ทำให้คาดว่าในปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3 ส่วนปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือปัญหาเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเมือง ปัญหาสังคม และการรับมือกับภัยธรรมชาติ