พล.อ.ประยุทธ์วอนปชช.ไว้ใจการใช้
รัฐบาลยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2558 โดยให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทน ซึ่งบางกลุ่มมองว่าเป็นการให้อำนาจทหารอย่างกว้างขวางมากกว่าเดิม แต่นายกฯ ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าจะให้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบินของไทยไม่ผ่านมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) การโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานในกระทรวงและคณะกรรมการที่สำคัญ และล่าสุดเตรียมการที่จะใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการการทำประมงผิดกฎหมาย ภายหลังจากที่อียูให้ใบเหลืองไทยเนื่องจากเห็นว่าไทยยังมีมาตรการที่ไม่ดีพอในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal, unreported and unregulated fishing หรือ IUU)
ทั้งนี้นายกฯ ได้แจกแจงเรื่องการใช้มาตรา 44 ในช่วงที่ผ่านมาดังนี้
แก้ปัญหาเรื่อง IUU: มาตรา 44 ช่วยบูรณาการการแก้ปัญหา แต่ไม่รับปากว่าจะแก้ได้ใน 6 เดือน
การแก้ปัญหา IUU ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการใช้มาตรา 44 เพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาเท่านั้น รัฐบาล คสช.เข้ามาโดยที่รู้ว่ามีปัญหานี้อยู่แล้ว พอยกเลิกกฎอัยการศึกไปก็มีมาตรา 44 มาใช้แทน ซึ่งก็คือกฎอัยการศึกเดิมที่เอามาใช้บางข้อเพื่อให้เกิดการบูรณาการ เพื่อรวบทุกอย่างให้ทำได้โดยเร็ว ไม่ติดขัดและนำไปสู่การปฏิบัติได้เลย แต่ในระยะยาวต้องใช้กฎหมายในการดำเนินการไม่ใช่เอามาตรา 44 ไปแก้ทุกเรื่อง เอามาตรา 44 ไปแก้ไขปัญหามะนาวแพง แก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหา ICAO ลดระดับมาตรฐานการบินไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ทั้งระบบ มาตรา 44 เป็นการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ทหารไปช่วย
ส่วนเรื่องที่อียูให้ใบเหลืองไทยเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายนั้น ประเทศไทยต้องยอมรับ โทษใครไม่ได้ และต้องแก้ไขให้ได้ซึ่งรัฐบาลนี้พยายามแก้เต็มที่ โดยใช้มาตรา 44 เพื่อให้ทำงานได้ แต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะแก้ไขได้เสร็จภายใน 6 เดือน ขณะนี้ยังมีเรือประมงมาขึ้นทะเบียนไม่ครบ ผู้ประกอบการยังจ้างแรงงานโดยไม่ถูกกฎหมาย การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับการร่วมมือของทุกฝ่าย และยังขึ้นอยู่กับการประเมินของคนอื่น
การที่อียูให้ใบเหลืองเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะไทยมีปัญหามาก ลำพังแค่การจดทะเบียนเรือประมงอย่างเดียวก็ใช้เวลามากแล้ว การที่อียูให้เวลาเพียงไม่กี่เดือนจึงไม่น่าจะแก้ปัญหาได้หมด อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้จะให้มีการตั้งศูนย์ต่างๆ ตามท่าเรือต่างๆ ให้มีทหารตำรวจไปเฝ้าเรือเข้า-ออกท่า ถ้าออกไปแล้วไม่กลับ ไม่รายงาน ลูกเรืออยู่ไหนไม่รู้ ถือเป็นความผิด นอกจากนี้ยังต้องมีการแก้ไขกฎหมายประมง กำหนดให้มีการติดตั้ง GPS และ VMS เพื่อติดตามตำแหน่งของเรือ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ควบคุมประมงชายฝั่ง ซึ่่งถ้ารอกฎหมายปกติจะดำเนินการไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้มาตรา 44 ไปทำเมื่อตั้งศูนย์ฯ ได้แล้วก็ใช้กฎหมายปกติดำเนินการกับผู้กระทำความผิด
นายกฯ กล่าวว่ากรณีของการให้ใบเหลืองนั้น ไม่ควรมองว่าอียูมาจับผิดประเทศไทย เพราะเป็นมาตรการที่เขาใช้กับทุกประเทศ แต่ยอมรับว่าเป็นมาตรการที่หนักพอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขมานาน ทั้งนี้ระหว่างการไปประชุมที่ประเทศอินโดนีเซียได้หารือกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียในเรื่องนี้ซึ่งผู้นำอินโดนีเซียก็ยินดีสนับสนุนไทยในการแก้ปัญหาภาพรวมของการประมงอาเซียน รวมทั้งหารือถึงเรื่องเรือประมงไทยที่ไปทำความผิดอยู่ที่อินโดนีเซียว่าจะนำกลับมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้อย่างไร
"มาตรา 44 อย่าไปกังวลกันมากนักเลย สนใจอยู่นั้นแหละพอเลิกกฎอัยการศึกก็มา 44 อีกแล้ว จาก 44 จะไปอะไรอีกล่ะ รู้สึกมันไม่ไว้ใจกันเลยนะ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
มาตรา 44 เปิดทางสอบสวนข้าราชการทุจริต
การปรับย้ายข้าราชการส่วนใหญ่เป็นไปตามวาระคือเดือนเมษายนและตุลาคม แต่สำหรับข้าราชการที่มีคดีผิดกฎหมายหรือพบว่าทุจริตก็ต้องเอาออกจากหน้าที่ตรงนั้นก่อน ซึ่งการเอาออกจากหน้าที่นั้นค่อนข้างยากเพราะมีกฎหมายของ กพ.อยู่ จึงต้องใช้มาตรา 44 มาอำนวยความสะดวกให้การสอบสวนเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวก เจ้าหน้าที่ไม่อึดอัด ดังนั้นจึงไม่ใช่การเอามาตรา 44 มาปราบโกง แต่เอามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ส่วนการปราบโกงนั้นให้ใช้กฎหมายปกติ
ส่วนการการสร้างความปรองดองนั้น นายกฯ กล่าวว่าใช้มาตรา 44 มาสร้างความปรองดองไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของความยินยอมของแต่ละคน
"ฝ่ายที่ขัดแย้งกันจะยอมรับการปรองดอง คือพูดจากัน เลิกทะเลาะกัน ไม่ใช้กำลังต่อกันหรือไม่ แต่ถ้ามีความผิดอยู่แล้ว จะให้เอามาตรา 44 ไปแก้ให้ปรองดอง ให้เลิกกัน ให้ยกโทษความผิด ผมทำให้ไม่ได้ เข้าใจซะด้วยนะ เขาเรียกว่าถ้าใช้แบบนั้นเป็นการใช้มาตรา 44 ในทางที่ผิดนะ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
มาตรา 44 กับการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาฯ
นายกฯ ได้กล่าวถึงการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 6 และ 7/2558 เรื่องการปรับเปลี่่ยนผู้บริหารและคณะกรรมการชุดต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาในกระทรวงจึงต้องปรับเปลี่ยนองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารงาน และดูแลทุกอย่างให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (Super Board) เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา ประกอบด้วยผู้มีความรู้ในเชิงบริหารและทางการศึกษามาพูดคุยและให้คำแนะนำ
ฟัง สปช. อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญทุกวัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าตนติดตามฟังสมาชิกสปช.ให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทุกวัน และย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยทำให้รัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นสากลอย่างเดียวหรือเป็นแบบเดิมจะปฏิรูปได้หรือไม่ อยากให้มีการฟังความเห็นจากหลายฝ่ายรวมทั้งจากต่างประเทศด้วย เพราะที่ผ่านมาเป็นการคิดกันเอง เถียงกันเอง ทะเลาะกันเองมาตลอด เลียนแบบเขาบ้าง ไม่ใช่คิดเองทำเอง แล้วทะเลาะกันเองอยู่แค่นี้