วันนี้ (31 ธ.ค.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ประณามการลอยนวลพ้นผิด ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย ของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษา ปฏิเสธสิทธิของครอบครัวนายสมชายไม่ให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวนับเป็นการขัดขวางไม่ให้ครอบครัวของเขา เข้าถึงความยุติธรรมได้ ศาลมีคำสั่งยกฟ้องตำรวจ 5 นาย ในการรับผิดทางอาญา ต่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย ของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกอุ้มหายไปจากใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2547 ผลคำตัดสินดังกล่าวนับเป็นผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิของผู้เป็นเหยื่อ
คำพิพากษาในคดีแรกที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทางการไทย ต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขอุปสรรคสำคัญ ทั้งทางกฎหมายและทางปฏิบัติที่ขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เป็นเหยื่อทุกคน รวมทั้งการกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาที่ชัดเจน การลอยนวลพ้นผิดอย่างต่อเนื่อง กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายต่อนายสมชาย นีละไพจิตร ยังเป็นสัญญาณบ่งบอกการขาดซึ่งการเยียวยาและชดเชย ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดความมั่นใจว่า มีการสอบสวนคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และคนอื่นๆ อย่างเป็นอิสระ เป็นผลและถี่ถ้วน และปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาต่อผู้ต้องตกเป็นเหยื่อ รัฐบาลจะต้องดำเนินการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย ที่สมควรจะเกิดขึ้นเป็นเวลานานแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับบุคคลให้สูญหายในอนาคต
ทั้งนี้รวมถึงการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งไทยได้ลงนามแล้วตั้งแต่ปี 2555 และให้นำข้อบัญญัติในอนุสัญญามากำหนดเป็นกฎหมายในประเทศ อนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้ทางการต้องบัญญัติให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา และให้มีมาตรการป้องกัน อนุสัญญายังระบุอย่างชัดเจนว่าผู้เป็นเหยื่อไม่ได้หมายถึงเพียงผู้สูญหาย แต่รวมถึงบุคคลใดๆ ก็ตาม รวมทั้งครอบครัวซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบังคับบุคคลให้สูญหาย
สำหรับกรณี นายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 53 ปี หายตัวไปจากกรุงเทพฯ เมื่อค่ำวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยมีกลุ่มผู้ชายนำตัวเขาออกจากรถและพาตัวหายไป ตามรายงานที่น่าเชื่อถือรวมทั้งคำให้การของประจักษ์พยานต่อศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 นาย เป็นผู้กระทำการลักพาตัวดังกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงเวลานั้นนายสมชายได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นลูกความของเขาที่ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรุมซ้อม โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวเป็นบุคคลที่ได้รับการยกฟ้องในคดีในวันนี้
ในการไต่สวนล่าสุด ศาลฎีกามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ว่า เนื่องจากขาดหลักฐานพิสูจน์ว่านายสมชายเสียชีวิต ครอบครัวเขาจึงไม่อาจเป็นโจทก์ร่วมและไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเขาได้ เมื่อปี 2554 ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องที่ครอบครัวขอเป็นโจทก์ร่วม โดยศาลเห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็น “ผู้เสียหาย” นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังตัดสินไม่ให้ครอบครัวนายสมชายกระทำการแทนได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเขาเสียชีวิตแล้วจริง
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2549 ว่า มีหลักฐานว่า นายสมชาย นีละไพจิตร เสียชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษก็เช่นกัน ได้แจ้งต่อครอบครัวของนายสมชายว่า เขาได้ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต หลังถูกลักพาตัว มีการนำศพไปเผาและนำขี้เถ้าไปโปรย นอกจากนี้ศาลยังมีคำสั่งให้ยกฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นายสำหรับความผิดอื่นๆ ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า รวมทั้งการบังคับขืนใจและการลักทรัพย์ โดยให้ความเห็นว่าพยานหลักฐานที่นำสืบในคดี “ขาดความน่าเชื่อถือ”
คำพิพากษาในครั้งนี้ยืนตามการปฏิเสธของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ที่ไม่อนุญาตให้พยานเข้าให้การเพื่อยืนยันความถูกต้องของหลักฐาน ที่แสดงการบันทึกการใช้โทรศัพท์มือถือ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นาย โดยในรายการใช้โทรศัพท์มือถือยืนยันว่า ตำรวจทั้ง 5 นายได้ติดตามนายสมชายไปตั้งแต่เช้า วันที่เขาหายตัวไป ทั้งนี้มีการขีดฆ่ารายการในบันทึกที่ชี้ให้เห็นว่า มีการใช้โทรศัพท์จำนวนมาก ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้น ในวันที่สามชายหายตัวไป และรายการที่ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มดังกล่าวได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และหมายเลขอื่นๆ ในวันดังกล่าว ก่อนหน้านี้ศาลได้ปฏิเสธที่จะพิจารณาหลักฐานดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าไม่ได้เป็นหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้มาอย่างเป็นทางการ การบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับนายสมชายนั้น ยังเน้นให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับบุคคลที่เป็นกระบอกเสียงให้กับความกังวลของสังคม และเรียกร้องให้แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในช่วงที่เขาหายตัวไปในปี 2547 นายสมชาย นีละไพจิตร เป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกความ 5 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดีปล้นปืนจากค่ายทหาร ในการเข้าร้องเรียนแก่ทางการ โดยลูกความของเขาร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดนราธิวาส ทางภาคใต้ของไทย ได้ทรมานลูกความของเขาเพื่อบังคับให้รับสารภาพ มีทั้งการทุบตีและเตะต่อย การช็อตด้วยไฟฟ้าที่ร่างกาย การพยายามทำให้ขาดอากาศหายใจ และการปัสสาวะใส่
ครอบครัวของนายสมชาย นีละไพจิตร และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยา ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ต่อสู้และเผชิญกับการข่มขู่และคุกคาม ไม่เพียงเพื่อความยุติธรรมสำหรับนายสมชาย แต่ยังรวมถึงการรณรงค์เรียกร้องเพื่อเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายอื่นๆ รวมทั้งนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” 30 ปี พ่อลูกสี่ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชนเผ่ากะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และได้ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งอยู่ระหว่างการแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร้องขอให้ทางการอนุญาตตามคำร้องของภรรยาหม้ายของนายพอละจี รักจงเจริญ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ มีรายงานว่าการสอบสวนกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับนายพอละจี เกิดความล่าช้า เนื่องจากการเข้ามาแทรกแซงของกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ระดับท้องถิ่น
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความจริงและความยุติธรรมต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งครอบครัวของคนเหล่านั้นที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินการให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการเข้าแจ้งความเพื่อการดำเนินคดีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหาทางเยียวยาโดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการตอบโต้เพื่อเอาคืน