ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คำตอบ "ขอบเขตเสรีภาพ-ความรับผิดชอบ" ของสื่อมวลชน สะท้อนผ่านแผ่นฟิล์มภาพยนตร์

Logo Thai PBS
คำตอบ "ขอบเขตเสรีภาพ-ความรับผิดชอบ" ของสื่อมวลชน สะท้อนผ่านแผ่นฟิล์มภาพยนตร์
ปีที่ผ่านมาบทบาทของสื่อมวลชนถูกจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องสิทธิและหน้าที่ ว่าแท้จริงแล้วคุณค่าของสื่อมวลชน คือเสรีภาพในการนำเสนอข่าวอย่างไร้ข้อจำกัด หรือการยึดมั่นในการนำเสนอเนื้อหาที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้รับสาร ติดตามจากรายงาน

วันนี้ (3 ม.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรวมตัวของผู้นำจากหลายชาติในยุโรป เพื่อนำกลุ่มคนกว่าหลักล้านคนเมื่อต้นปี 2015 คือกำลังใจสำคัญที่มีต่อ ชาร์ลี เอ็บโด สำนักพิมพ์การ์ตูนล้อการเมือง ที่สูญเสียทีมงาน 12 คน ไปกับเหตุการณ์ก่อการร้าย โดยกลุ่มคนที่ไม่พอใจที่ทางนิตยสารนำภาพศาสดาของศาสนาอิสลามมาล้อเลียนอย่างต่อเนื่อง

ทว่า ภายหลังท่าทีของ ชาร์ลี เอ็บโด กลับถูกจับตามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสำนักพิมพ์ของเขานำโศกนาฎกรรมมาล้อเลียนบ่อยครั้ง ทั้งเหตุการณ์เครื่องบินรัสเซียตกในคาบสมุทรไซนาย จนถึงภาพการเสียชีวิตของผู้อพยพตัวน้อยชาวซีเรีย จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงขอบเขตของฟรี สปีช (Free Speech) ว่าแท้จริงแล้วสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างไร้ขอบเขตหรือไม่

หลังเหตุโจมตีสำนักพิมพ์ ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ร้อยละ 57 แสดงความเห็นว่า ชาร์ลี เอ็บโด ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความรู้สึกของศาสนิกชน แต่ก็มีผู้เห็นต่างถึงร้อยละ 42 ที่มองว่าเป็นเรื่องไม่สมควรกระทำ เป็นผลให้ต่อมาสำนักพิมพ์หลายแห่งในยุโรปนำภาพศาสดาของชาร์ลี เอ็บโดมาตีพิมพ์ซ้ำ เพื่อสื่อถึงความสามัคคีในแวดวงสื่อมวลชนโลกตะวันตก

แต่สื่อชั้นนำของอังกฤษ อาทิ เดอะ การ์เดียน (The Guardian) และ ดิ อินดีเพนเดนซ์ (The Independence) ต่างปฎิเสธการตีพิมพ์ เนื่องจากมองว่าไม่ควรซ้ำเติมศาสนา เพียงเพราะมีคนบางกลุ่มบิดเบือนคำสอนมาสร้างความชอบธรรมในการก่อการร้าย และยังทำให้มุสลิมผู้รักสันติที่อาศัยอยู่ในยุโรป ต้องตกเป็นเหยื่อการถูกกีดกันในสังคมมากขึ้นไปอีก

          

ยุคสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข่าวจำนวนมหาศาลในเวลารวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อมวลชนเหมือนในอดีต จนหน้าที่ของสื่อมวลชนในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนจากการเป็นผู้จุดประเด็นข่าว กลายเป็นผู้คัดกรองที่มาของข้อมูลอันหลากหลาย เพื่อเลือกประเด็นที่น่าเชื่อถือมาเผยแพร่แก่ผู้รับสารในวงกว้าง บ่อยครั้งที่ความรวดเร็วในการนำเสนอข่าวยุคออนไลน์ ทำให้ข่าวลวงที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริงถูกส่งต่อไปในวงกว้าง เนื่องจากผู้รับสาร หรือแม้แต่ผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนขาดวิจารณญาณในการวิเคราะห์ที่มาของข้อมูลอย่างถี่ถ้วน

ปี 2558 ที่ผ่านมา บทบาทของนักข่าวได้รับความสนใจจากผู้สร้างภาพยนตร์ และนำไปถ่ายทอดในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ชีวิตของนักข่าวหน้าใหม่ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจ จนได้ลงสนามข่าวทำสกู๊ปของตนเองใน ยู คอล อิท แพสชั่น (You Call It Passion) จนถึงนักข่าวที่หมกมุ่นกับการหาข่าวพาดหัว จนถูกล่อลวงโดยมิจฉาชีพให้รายงานข่าวเด็ดที่ไม่มีอยู่จริงในเรื่อง ดิ เอ็กซ์คลูสีฟ (The Exclusive) แต่บทบาทของนักข่าวน้ำดี ก็ยังมีให้เห็นในเรื่อง คอลเลคทีฟ อินเวนชั่น (Collective Invention) และ ไมเนอริตี้ โอพิเนียน (Minority Opinion) ที่เล่าถึงการทำงานของนักข่าวที่มุ่งมั่นตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับแหล่งข่าวที่ตกเป็นเหยื่อสังคม หรือที่รู้จักในชื่อนักข่าวแนวสืบสวน

อาชีพนักข่าวแนวสืบสวน กลับมาได้รับความสนใจาก จากภาพยนตร์เรื่อง สปอตไลท์ (Spotlight) หนึ่งในตัวเต็งรางวัลออสการ์ ซึ่งสะท้อนความอุตสาหะของทีมข่าวที่ใช้เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลนานนับปี จนได้มาซึ่งข่าวที่นำไปสู่การเปิดโปงปัญหาที่สังคมไม่เคยรับรู้มาก่อน เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ผู้ใช้โอกาสทางวิชาชีพสร้างผลงานที่ให้ประโยชน์แก่สังคม ซึ่งเป็นบทบาทที่สื่อถึงคุณค่าของอาชีพนักข่าวอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่องสปอตไลท์ ได้รับการยอย่องว่าเปรียบดังเรื่อง ออล เดอะ เพรสซิเดนท์ เมน (All the President's Men) แห่งยุคปัจจุบัน ซึ่งภาพยนตร์ออด เดอะ เพรสซิเดนท์ เมน เป็นหนังที่ถ่ายทอดการทำงานของทีมข่าวที่เปิดโปงคดีคอรัปชั่นของสหรัฐเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นหนังระดับขึ้นหึ้งของวงการสื่อมวลชนจนถึงวันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง