สภา กทม. ประชุมแก้กฎหมายควบคุมอาคาร วันนี้

สังคม
8 มี.ค. 55
02:12
20
Logo Thai PBS
สภา กทม. ประชุมแก้กฎหมายควบคุมอาคาร วันนี้

วันนี้ (8 มี.ค.) ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร จะมีการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 เพื่อให้ทุกอาคารอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเดิมบังคับเฉพาะอาคารที่สร้างภายหลังปี 2535

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 1 ครั้งที่ 7 ในวันนี้ (8 มี.ค.) จะมีการเสนอญัตติของ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภากรุงเทพเขตห้วยขวาง และนายกิตพล เชิดชูกิตกุล สมาชิกสภา กทม. เขตประเวศ ญัตติเรื่อง ขอความเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในอาคารสูง นอกจากนี้ อาจมีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ต่อที่ประชุมสภา กทม. พร้อมระบุว่า สาเหตุเพลิงไหม้ที่อาคารฟิโก้ เพลส ซอยอโศกมนตรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเจ้าของอาคารมีความตื่นตัว และตรวจสอบมาตรการควบคุมเพลิงไหม้ รวมถึงความปลอดภัยด้านอื่นๆ ซึ่ง กทม. อยากให้อาคารทั้งใหม่และเก่าได้มีระบบป้องกันอัคคีภัย บันไดหนีไฟ และลานจอดเฮลิคอปเตอร์ด้านบนอาคาร และอยากให้เจ้าของอาคารหมั่นตรวจสอบทางหนีไฟไม่ให้มีสิ่งกีดขวางเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย

ด้าน นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการรับตรวจสอบอาคาร เปิดเผยว่า อาคารสำนักงานให้เช่า ฟิโก้ เพลส ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นอาคารที่สร้างก่อนการออก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 ทำให้ไม่มีการติดตั้งสปริงเกอร์ หรือหัวฉีดน้ำดับเพลิงกรณีเกิดไฟไหม้ และไม่มีการติดตั้งสัญญาณเตือนภัย โดยมีเพียงบันไดหนีไฟ ซึ่งจำนวนอาคารขนาดใหญ่พิเศษ สูงตั้งแต่ 23 เมตร และมีพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นสำนักงานให้เช่าและคอนโดมิเนียมทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีกว่า 2,000 อาคาร พบว่า มีอาคารที่สร้างก่อนออก พ.ร.บ.ดังกล่าวเช่นเดียวกับฟิโก้เพลสถึงร้อยละ 50 หรือกว่า 1,000 อาคาร แม้จะมีกฎกระทรวงกำหนดอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ออกมา จนถึงปัจจุบัน รวมเวลากว่า 5 ปีแล้ว ได้กำหนดให้อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ต้องได้รับการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ยังคงละเลยการตรวจสอบอาคารอย่างเข้มข้น เนื่องจากหลายรายไม่ได้ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและจริงจังเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น บริษัทจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของทางกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้ทุกอาคารติดตั้งสปริงเกอร์ โดยจะบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2535 กับทุกอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 ด้วย เพื่อให้ทุกอาคารมีมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้นการติดตั้งสปริงเกอร์

ทั้งนี้ อาคารขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ต้องใช้งบติดตั้งไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท เพราะเพียงแค่ปั๊มน้ำสำหรับดับไฟ ที่ใช้สูบน้ำกระจายไปยังชั้นต่างๆ 1 ตัว มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาทแล้ว และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนในการติดตั้ง แต่ถือเป็นความจำเป็นที่ทุกอาคารใหญ่ควรมี หาก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2535 ไม่ได้บังคับใช้กับอาคารที่สร้างก่อนออก พ.ร.บ. ผู้ประกอบการที่ขาดแคลนเงินทุนในการติดตั้งสปริงเกอร์ ควรติดตั้งสัญญาณเตือนภัยเพื่อความปลอดภัย หากเกิดอัคคีภัยสามารถหนีได้ทัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง