ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ซาอุฯ ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตอิหร่าน จับตาความขัดแย้งลุกลาม

ต่างประเทศ
4 ม.ค. 59
20:47
1,224
Logo Thai PBS
ซาอุฯ ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตอิหร่าน จับตาความขัดแย้งลุกลาม
ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกขณะ หลังจากที่ซาอุฯ ประหารชีวิต "ชีค นิมเมอร์ อัล-นิมเมอร์" นักบวชนิกายชีอะห์ซึ่งนำมาสู่การประท้วงของชาวอิหร่านที่เข้าทำลายและเผาสถานทูตซาอุฯ ในกรุงเตหะราน

วันนี้ (4 ม.ค.2559) ได้มีการจัดพิธีไว้อาลัยชีค นิมเมอร์ อัล-นิมเมอร์ขึ้นที่สุเหร่าของหมู่บ้านอัล-อะวามิยา ในจังหวัดอีสเทิร์น ของซาอุดิอาระเบีย โดยมีคนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดเข้าร่วมพิธีท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้า

ชีค นิมเมอร์ วัย 56 ปี ซึ่งเป็นนักบวชนิกายชีอะห์คนสำคัญ เป็น 1 ใน 47 คนที่ถูกทางการซาอุฯ ประหารชีวิตเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2559 โดยเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีก่อการร้าย น้องชายของชีค นิมเมอร์เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลซาอุฯ ได้แจ้งข่าวให้สมาชิกครอบครัวว่าศพของชีค นิมเมอร์ถูกเจ้าหน้าที่นำไปฝังไว้ที่สุสานแห่งหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งประเด็นนี้อาจกลายเป็นชนวนครั้งใหม่ที่สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนและชาวมุสลิมชีอะห์ในภูมิภาคตะวันออกกลางและทั่วโลก

ด้านกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวหารัฐบาลซาอุฯ ว่าเป็นผู้โหมกระพือความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในภูมิภาค หลังจากซาอุฯ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านวันนี้ (4 ม.ค.2559) พร้อมทั้งสั่งขับเจ้าหน้าที่ทางการทูตอิหร่านให้เดินทางออกนอกประเทศภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตอบโต้กรณีที่ผู้ประท้วงชาวอิหร่านบุกทำลายทรัพย์สินและจุดเพลิงเผาสถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 3 ม.ค.

อิหร่านระบุว่า ทางการซาอุฯ พยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศด้วยการผลักปัญหาเหล่านั้นไปยังโลกภายนอก นอกจากนี้ซาอุฯ ยังคงดำเนินนโยบายที่เพิ่มความตึงเครียดและการปะทะกันให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

สถานีโทรทัศน์ อัล อะราบียา ของทางการซาอุฯ รายงานว่าคณะนักการทูตของซาอุฯ ได้เดินทางออกจากสถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียในกรุงเตหะรานไปถึงนครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรทส์แล้ว

ย้อนรอยความขัดแย้งซาอุฯ-อิหร่าน

ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านเรียกได้ว่าอยู่คนละขั้ว ซาอุฯ ถือเป็นแกนนำของนิกายสุหนี่ ในขณะที่อิหร่านเป็นแกนนำของนิกายชีอะห์ ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมีปัญหากระทบกระทั่งกันทั้งทางตรงและทางอ้อม มาโดยตลอด

อิหร่านเป็นประเทศที่มีชาวชีอะห์อยู่มากที่สุดในโลก คือ มีประมาณ 66-70 ล้านคน รองลงมา คือ อินเดีย (40-50 ล้านคน) ปากีสถาน (20-30 ล้านคน) ไนจีเรีย (20-25 ล้านคน) อิรัก (19-22 ล้านคน) เยเมน (8-10 ล้านคน) ตุรกี (7-11 ล้านคน) อาเซอร์ไบจาน (5-7 ล้านคน) อัฟกานิสถาน (3-4 ล้านคน) ซีเรีย (3-3.5 ล้านคน) ซาอุดิอาระเบีย (3-4 ล้านคน) และเลบานอน (1-1.6 ล้านคน)

ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ประเด็นหลักๆ คือ เรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่ซาอุดิอาระเบียมองว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคง ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือ การเสียชีวิตของผู้แสวงบุญชาวอิหร่านมากกว่า 1,000 คนในระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะห์ และความขัดแย้งล่าสุดที่มีสาเหตุมาจากการประหารชีวิตชีค นิมเมอร์ นักบวชชีอะห์คนสำคัญในซาอุดิอาระเบียนั่นเอง ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในชุมชนชาวชีอะห์หลายประเทศแม้ว่าการประหารชีวิตผู้ต้องหาทั้ง 47 คนจะมีทั้งชาวสุหนี่และชีอะห์ก็ตาม นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียยังเป็นมุสลิมสุหนี่สาย "วาฮาบี" เคร่งศาสนา ที่มีฐานความคิดแตกต่างจากมุสลิมชีอะห์อย่างสิ้นเชิง

เหตุการณ์สำคัญที่เป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างซาอุฯ และอิหร่าน มีดังนี้

พ.ศ.2530
ระหว่างการประกอบฮัจญ์ที่นครมักกะห์ โดยผู้แสวงบุญจากหลายประเทศรวมถึงชาวอิหร่านเตรียมจัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ซึ่งเป็นกิจกรรมจัดอย่างต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว
แต่ในปี 2530 ทางการซาอุดิอาระเบียกลับไม่ยอมให้จัดการประท้วงขึ้น พร้อมทั้งได้ส่งกำลังตำรวจและกองกำลังแห่งชาติเข้าปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 402 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวอิหร่าน 275 คน เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวอิหร่านในกรุงเตหะรานไม่พอใจและออกมาประท้วงซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียในกรุงเตหะราน จนทำให้นักการทูตซาอุดิอาระเบียเสียชีวิต เนื่องจากตกจากหน้าต่าง ซึ่งทางการซาอุดิอาระเบียประณามอิหร่านว่าประวิงเวลาในการส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาล

พ.ศ.2546
เกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาส่งกำลังบุกเข้าไปในอิรักเพื่อโค่นอำนาจอดีตประธานาธิบดีซัมดัม ฮุสเซน หลังจากที่อิรักใช้กำลังบุกเข้าไปยึดบ่อน้ำมันในคูเวต ทำให้ซาอุดิอาระเบียมองว่าอิรักเป็นภัยคุกคาม จึงเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาส่งกำลังเข้าไปแทรกแซงในอิรัก โดยซาอุดิอาระเบียอนุมัติให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพในประเทศเพื่อปฏิบัติการโจมตีอิรักได้ ขณะเดียวกันซาอุดิอาระเบียยังมองว่า โครงการนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด ของอิหร่าน ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในภูมิภาค เนื่องจากทำให้ทั้งภูมิภาคตกอยู่ในอันตราย

พ.ศ.2554
เป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์ "อาหรับสปริงส์" ในหลายประเทศของโลกอาหรับ ซึ่งรวมถึงประเทศบาห์เรนด้วย โดยในปีนั้น รัฐบาลซาอุดิอาระเบียส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยรัฐบาลบาห์เรนปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เนื่องจากเกรงว่าฝ่ายค้านชาวชีอะห์ในบาห์เรนจะถือโอกาสเข้าเป็นแนวร่วมกับอิหร่าน นอกจากนี้ทั้งซาอุดิอาระเบียและบาห์เรน ยังได้กล่าวหาอิหร่านว่าช่วยบ่มเพาะความรุนแรงขึ้นต่อต้านทางการบาห์เรนอีกด้วย

ข้อมูลจากเว็บไซท์วิกีลีคส์เปิดเผยว่า บรรดาผู้นำในซาอุดิอาระเบีย รวมไปถึงอดีตกษัตริย์อับดุลเลาะห์พยายามที่จะกดดันสหรัฐอเมริกาให้แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวเพื่อต่อต้าน รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังทหารเข้าโจมตีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาและหลักฐานที่ระบุว่าอิหร่านวางแผนลอบสังหารนักการทูตซาอุดิอาระเบียในกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา อีกด้วย

พ.ศ.2558
รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรในการปฏิบัติการโจมตีกลุ่มกบฏฮูตีนิกายชีอะห์ในประเทศเยเมน ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอิหร่าน รวมถึงเหตุเหยียบกันตายในระหว่างพิธีฮัจญ์ ที่นครมักกะห์ โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 769 คน โดยในจำนวนนี้เป็นชาวอิหร่าน 464 คน ในขณะที่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการที่รายงานโดยสื่อระดับโลกมีมากกว่า 2,000 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง