วันนี้ (4 ม.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาอยู่ในช่วงแน่นแฟ้นที่สุดในรอบ 65 ปี เมื่อได้เห็นภาพของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนมาเยือนไทย พร้อมกับคณะรัฐมนตรีและนักธุรกิจชั้นนำ ด้วยผู้นำกัมพูชาตั้งเป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการค้ากับประเทศไทย
นอกจากความสัมพันธ์ระดับรัฐต่อรัฐ ในระดับแรงงานประเทศไทยเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับแรงงานกัมพูชาที่มีอยู่กว่า 4 แสนคน ขณะที่บางคนตัดใจนำเงินเก็บจากการทำงานในไทย กลับไปเปิดกิจการที่บ้านเกิด
สมพอร์ส หรือ พร แนะนำอาหารในร้าน "สมพอร์ส บอกละห่อง" ของเธอด้วยภาษาไทยอย่างคล่องแคล่ว นอกจากทักษะการพูดภาษาไทย และเงินเก็บจากการทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่กรุงเทพฯ กว่า 10 ปี สิ่งหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้จากไทยและช่วยให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิต คือวิชาตำส้มตำ ที่เธอลงทุนควักกระเป๋าถึง 7,000 บาท เพื่อเรียนรู้สูตรส้มตำจากร้านข้างบ้านในกรุงเทพ
พร มองเห็นช่องว่างทางการตลาดว่า คนกัมพูชานิยมรับประทานส้มตำที่ผ่านมามีแค่การขายบนรถเข็นแต่ไม่มีร้านสำหรับนั่ง เธอจึงนำเงินเก็บมาลงทุนเปิดร้านห้องแถว ด้วยรสชาติที่ถูกปากทำให้ร้านของเธอขายดี จนขยายร้านใหญ่ขึ้นเช่นปัจจุบัน
จากพี่เลี้ยงเด็กรายได้เดือนละ 6,000 บาท ปัจจุบัน พรกลายเป็นเจ้าของร้านส้มตำชื่อดังในกรุงพนมเปญ มียอดขายตกประมาณเดือนละ1 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่่องง่าย พรจึงเป็นตัวอย่างของอดีตแรงงานกัมพูชาในไทยที่ประสบความสำเร็จ
ขณะที่แรงงานกัมพูชากว่า 4 แสนคน ในประเทศไทย ยังต้องดิ้นรนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยแรงงานกัมพูชาในไทยจำนวนหนึ่ง บอกว่า มีความสุขกับชีวิตที่นี่และพอใจกับค่าแรงขึั้นต่ำวันละ 300 บาท แม้ความเป็นอยู่ที่ไทยจะสบายกว่าที่กัมพูชา แต่พวกเขายังหวังจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลกัมพูชาประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 128 ดอลลาร์หรือ 4,600 บาทต่อเดือน เป็น 140 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5,040 บาทต่อเดือน ค่าแรงที่นับว่าต่ำติดอันดับท้ายๆ ของอาเซียน ดึงดูดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในกัมพูชา แต่สำหรับแรงงานในประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับกลับสวนทางกับค่าครองชีพ
เดือน ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา คนงานเกือบ 30,000 คน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแมนฮัตตันและไทเส็ง ในเมืองบาเวต จ.สวายเรียงออกมาประท้วงให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 148 ดอลลาร์ต่อวัน แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานยืนยันว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะรัฐบาลตัดสินใจอัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2559 ไปแล้ว