ป๋วย อึ้งภากรณ์ กับวงการศิลปวัฒนธรรม
บทเกี้ยวพาของขุนแผนตอนเข้าหานางพิมพิลาไลย ในเพลงเขมรพวง ฉบับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ศร ศิลปบรรเลง เพลงเก่าที่นิยมขับร้องเมื่อกว่า 80 ปีก่อน เป็น 1 ในเพลงโปรดของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และมักปลีกเวลามาร่วมเล่นกับวงดนตรีไทยของธนาคารแห่งประเทศไทยตลอดเวลากว่า 10 ปี สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งนี้ยังมีเพลงนกขมิ้น ที่คนใกล้ชิดรู้กันว่าเป็นอีกเพลงโปรด ทำให้ให้เห็นมุมหนึ่งของนักคิดด้านประชาธิปไตย และนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ ที่ให้ความสนใจกับศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งถูกถ่ายทอดในงาน 40 ปี สันติประชาธรรม สู่ 1 ศตวรรษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
อาจารย์ป๋วยยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานด้านศิลปะ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงค์ชาติ ได้เสนอแนวคิดให้ธนาคารสละทรัพย์ส่วน หนึ่งอุดหนุนศิลปินสร้างผลงาน จวบจนปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีภาพของศิลปินมากมายจัดแสดงในอาคาร เป็นแบบอย่างให้ธนาคารพาณิชย์อื่นหันมาสนับสนุนงานศิลปะ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญก่อตั้งหอศิลป์ พีระศรี ในปี 2517 เพื่อเป็นศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ให้ศิลปะทำงานเพื่อสังคม ดังที่เคยกล่าวว่า “ประชาคมใดที่เอาใจใส่บำรุงศิลปวิทยา ประชาคมนั้นย่อมประสบความเจริญมิใช่แต่ด้านศิลปอย่างเดียว ย่อมจะเจริญในด้านความดีและความจริงอันเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสันติสุข แห่งมนุษย์ในประชาคม”
แม้บทบาทในการสนับสนุนงานด้านศิลปวัฒนธรรมจะมีไม่น้อย แต่ภาพจดจำที่คนทั่วไประลึกถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือผู้มีความหาญทางจริยธรรม ไม่เคยสยบยอมให้แก่อำนาจอธรรมฝ่ายใด มีเพียงความปรารถนาดี ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และชาติ อย่างพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อแผ่นดิน อาจารย์ป๋วย เป็นสมาชิกเสรีไทยในยามประเทศเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนต้องเดินทางออกนอกประเทศ และใช้ชีวิตบั้นปลายในต่างแดน ตลอดชีวิตอาจารย์ป๋วย ไม่เคยแสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์ มีเพียงความสุจริตในหน้าที่ จึงเป็นตำนานที่อยู่ในใจคนไทย ที่หากวันนี้ยังมีชีวิตก็กำลังก้าวสู่ 1 ศตวรรษ