วานนี้ (8 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ที่หมู่ 4 บ้านคลองประดู่ อ.เทพาจ.สงขลา มีกิจกรรมจัดเวทีต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยเครือข่ายชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์ม ศูนย์ Kampung Damai ประจำต.ท่ากำชำ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ(คปส.) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เครือข่ายเทพารักษ์ถิ่น เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี กลุ่มนาซิจาโป มอ.ปัตตานี ชมรมรักษ์บ้านเกิด ทุ่งพอ-สะบ้าย้อย ชมรอนุรักษ์ฯ มอ.ปัตตานี LEMPAR PERMAS เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้เข้าร่วมเวทีจากจ.ปัตตานี จ.สงขลา อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.จะนะประมาณ 300 คน
นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองเทพา กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เป็นองค์กรเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยับยั้งไม่ให้โครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในสิทธิชุมชนของประชาชนตลอดจนความมั่นคงใน ทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม ซึ่ง ปัญหาเร่งด่วน ณ ช่วงเวลาปัจจุบันนีคือ มหันตภัย จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
เวทีในวันนี้ เป็นเวทีให้ข้อมูลกับผู้ที่มาร่วมเวที เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาฯ จะใช้พื้นที่เกือบ 3,000 ไร่และพื้นที่ทะเลอีกประมาณ15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งโครงการในพื้นที่ต.ปากบางอ.เทพาจ.สงขลา ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างแต่กลับมีการศึกษาผลกระทบเพียงรัศมี 5 กิโลเมตร โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่จังหวัดปัตตานีแม้แต่น้อย
นายดิเรกกล่าวต่อว่า ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ มีจุดยืนที่ชัดเจนในการยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้า ถ่านหินเทพาอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากผลกระทบอย่างร้ายแรงในทุกด้าน ทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมการทำลายวิถีชุมชนและประมงพื้นบ้านการทำลายมิติทางศาสนธรรมอันดีงาม โครงการจะมีการย้ายมัสยิด วัด กุโบร์ และ โรงเรียนปอเน๊าะ ทำลาย สุขภาวะทางสุขภาพร่างกาย และสร้างความฉ้อฉลจากการใช้เงิน ซื้อ ผู้นำและซื้อทุกอย่าง ประชาชนในพื้นที่อ.เทพาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นนอกจากมลพิษหายนะและ ความแตกแยกในชุมชน
เครือข่าย PERMATAMAS เชื่อว่ามหันตภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ไม่ใช่แค่เพียงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น หากแต่กระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกำลังดำเนินการโดย กอ.รมน.นั้น ก็จะได้รับผลกระทบ โดยตรงด้วยเพราะได้สร้างบรรยากาศความหวาดระแวงความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฟผ.ที่ใช้อำนาจ อิทธิพล มาผลักดันโครงการ อีกทั้งยังได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนกับประชาชนกันเอง และประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลียงไม่ได้ ทั้งนี้เครือข่าย PERMATAMAS จะเผยแพร่ชุดข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่าน หินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต่อสาธารณะและชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องต่อไป
“ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณายกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือ สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อเห็นแก่ความมั่นคงของประชาชนและ ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นรากฐานสำคัญของความมั่น คงแห่งชาตินั้นและเพื่อการส่งเสริมกระบวนสันติภาพชายแดน ใต้ อันจะช่วยให้ประชาชน สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสงบ ร่มเย็นสันติสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืนสอดคล้องตาม เจตนารมณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป” นายดิเรก
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนายการโรงพยาบาลจะนะจ.สงขลา กล่าวว่า ถ่านหินมีสารโลหะหนัก ซึ่งเป็นสารอันตรายสามารถจะก่อมะเร็งได้หลายตัว ขบวนการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีการเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง ขบวนการเผาจะก่อให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ฝุ่นนี้จะมีโลหะหนักผสมอยู่ หากเข้าสู่เส้นเลือดทำให้เป็นโรคปอด หัวใจ มะเร็ง โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีปล่องของโรงไฟฟ้าที่มีความสูงเท่ากับตึกประมาณ60 ชั้น ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพียง 5 กม.ตามที่มีการศึกษาผลกระทบอย่างแน่นอน ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่ใช่เรื่องของคนอ.เทพาจ.สงขลา เพราะควันลอยไปถึงปัตตานี ยะลา นราธิวาส หาดใหญ่ สงขลา สตูล แต่ความหนาแน่นของสารพิษแตกต่างกัน
นายรอหีม มุเซะ โต๊ะอิหม่ามบ้านปะโอน อ.เทพาจ.สงขลา กล่าวว่า มัสยิด กุโบร์ เป็นที่แยกออกจากกันไม่ได้ มัสยิดเป็นศูนย์รวมใจ สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของเรา จะให้ย้ายให้สร้างใหม่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มัสยิดเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ จะให้เป็นสถานที่อนุรักษ์ไม่ได้ เรื่องมัสยิด กุโบร์ เราไม่อยากพูดถึงแล้วมันเป็นสิ่งที่มีความเจ็บช้ำน้ำใจของเรา ในด้านพื้นที่ของเราเป็นพื้นที่นา มีการทำนาหลายพันไร่ ได้มีการสนับสนุนให้ปลูกข้าวช่อขิงปลอดสารพิษส่งออกต่างประเทศสร้างรายได้ให้กับคนอ.เทพามาอย่างต่อเนื่อง หากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาก่อสร้างในพื้นที่ขึ้นสิ่งเหล่านี้จะถูกทำลายอย่างแน่นอน เราอยู่แบบนี้มีความสุขแล้วอย่ามารบกวนกันอีกเลย
ดร.สมพร ช่วยอารีย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหิน มีสะพานยื่นออกไปในทะเล 3,000 เมตร ปักเสาลงในทะเลไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้น ลักษณะดังกล่าว จะทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง บริเวณพื้นที่อ.เทพา มีลม 8 ทิศ จะทำให้มลพิษกระจายไปทั่ว ในส่วนของน้ำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จะมีการดูดเข้ามาใช้ในการหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าจำนวนมาก จากนั้นปล่อยกลับลงสู่ทะเล สารพิษก็กระจายไปทั่วทะเล มีบ่อขี้เถ้า700 กว่าไร่ สารพิษก็ลงสู่ผืนดิน สิ่งที่กังวลที่สุดในตอนนี้คือกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยที่คนจ.ปัตตานีไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะเกิดโครงการอะไรขึ้นในพื้นที่เลย ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบเหมือนกัน
ด้านนายคอนดูน ปาราเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์มอ.ปัตตานี กล่าวว่า จากการลงพื้นอ.เทพา เพื่อศึกษาชุมชนทำให้เห็นว่าทะเลอ.เทพา คือแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญมาก คือตู้เอทีเอ็มของชาวบ้าน การพัฒนาที่เกิดขึ้นจะทำลายสิ่งเหล่านี้ อยากให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และจะมีส่วนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้รับทราบข้อมูลและได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือชุมชน โดยเฉพาะงานการเก็บข้อมูลชุมชนซึ่งนักษาสามารถมีส่วนร่วมได้ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยสามารถเข้ามาช่วยเหลือชุมชนในงานด้านวิชาการซึ่งเป็นงานที่เหมาะสมกับสถานศึกษา
ฮัจยะฮ์สุไรด๊ะ โต๊ะหลี จากอ.จะนะ กล่าวว่า วันนี้พี่น้องจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาร่วมรับฟังข้อเท็จจริงของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ครบทุกด้านทั้งงานวิชาการ มิติทางศาสนา และข้อมูลชุมชน ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง และที่สำคัญคนพื้นที่ได้ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบขั้นรุนแรง ที่จะเกิดนั้นพวกเราจึงต้องออกมาแสดงตนเพื่อรักษาแผ่นดินทรัพพยากรของพวกเราเอาไว้ อย่าให้คนบางกลุ่มได้เข้ามาเอสประโยชน์ และมาทำลายที่บ้านเรามาทำที่ทำมาหากินของเรา
ฮัจยะฮ์สุไรด๊ะกล่าวอีกว่า คนพื้นที่มีความเจ็บปวดมาก จากกรณีที่คณะกรรมการกลางอิสลาม ออกหนังสือสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ดังกล่าวโดยไม่ได้มาศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ และไม่เคยถามความต้องการของคนพื้นที่ ประเด็นสำคัญ คนพื้นที่ได้ชี้ให้เห็นมาตลอดว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทุกมิติ แต่ไม่มีใครรับฟัง และยังนำองค์กรทางศาสนาไปรับใช้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมาะสมชอบธรรมแล้วรือ