วันนี้ (9 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานจากท้องฟ้าจำลองกรุงเทพกว่า แม้แต่ละรอบของการฉายดาว จะใช้เวลานานกว่า 40 นาที แต่เด็กๆ ก็ยังเฝ้ารอที่จะเข้าชมกันอย่างคับคั่ง หลายคนที่รับชมแล้ว ต่างสะท้อนว่า ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดความรู้ทางดาราศาสตร์อย่างมาก
นี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงความตื่นเต้น ความสนุกสนาน ระหว่างรับชมการฉายดาวระบบดิจิทัลความคมชัดสูง ที่มีความแตกต่างจากเครื่องฉายเดิม เพราะให้ภาพที่สมจริง ฉายดาวเต็มโดม 360 องศา แสดงดวงดาวมากกว่าเครื่องฉายเก่ากว่าแสนดวง แสดงดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวง ได้อย่างถูกต้องในสัดส่วนที่สมจริง และยังแสดงแบบจำลองยานอวกาศและเส้นทางโคจรในการสำรวจดาวเคราะห์และเพิ่มแอนนิเมชั่นที่น่าสนใจ เป็นสิ่งที่สร้างเสริมความรู้ จินตนาการ และแรงบันดาลใจ ต่อความสนใจในเรื่องราวของดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ให้กับเด็กๆ ที่ได้รับชม
นางตติยา ใจบุญ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวว่า กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติปีนี้ ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด สนุก สนุก วิทย์ kids lean เพลินดวงดาว เน้นนำเทคโนโลยี เป็นสื่อการสอนที่สำคัญ เพื่อการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการต่อยอดคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ
นอกจากการรับชมการฉายดาวด้วยระบบดิจิทัลแบบใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมพิเศษแล้ว ยังมีนิทรรศการเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์กว่า 20 เรื่อง และการแสดงโขน การแสดงมายากล จากนักเรียนหลายๆโรงเรียน ขณะที่อีกฝั่งภายในอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ยังเปิดให้เด็กๆ ได้สัมผัส ทดลอง วิทยาศาสตร์ ได้ด้วยตนเอง
ความสนใจเข้าชมการฉายดาวด้วยระบบดิจิทัลแบบความคมชัดสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า ส่งผลให้บัตรคิวการฉายดาวทั้ง 10 รอบเต็มหมดแล้ว แต่ผู้ปกครองยังสามารถพาเด็กๆ มาร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่ท้องฟ้าจำลองได้จนถึงเวลา 16.00 น.