ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตามไปดูปรากฏการณ์บนท้องฟ้า “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวศุกร์ และ ดาวเคียงเดือน”

Logo Thai PBS
ตามไปดูปรากฏการณ์บนท้องฟ้า “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวศุกร์  และ ดาวเคียงเดือน”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แนะคนไทยจับตามอง 2 ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในยามราตรีของเดือนมีนาคม กับปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวศุกร์ และดาวเคียงเดือน”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) โดย นายชนากานต์  สันติคุณาภรณ์  เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ถ่ายภาพดาวพฤหัสบดีเคียงดาวศุกร์  ให้ผู้ที่พลาดชมปรากฏการณ์ดังกล่าว ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 13 มีนาคม 2555 ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์จะเข้าใกล้กันในมุมปรากฏมากที่สุดในรอบปี โดยจะเห็นดาวศุกร์ส่องสว่าง  เนื่องจากดาวศุกร์อยู่ใกล้โลกและมีความสว่างมากกว่า  สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเป็นมุมประมาณ 40 องศาและจะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ทางด้านซ้ายของดาวศุกร์ ดาวทั้งสองปรากฎเคียงกันจนถึงเวลาประมาณ 21.30 น. จากนั้นจึงตกลับขอบฟ้าไป

ภาพดังกล่าว ถ่ายเมื่อ เวลา 19:04:50 น. วันที่ 13 มีนาคม 2555  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช และสามารถชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ facebook สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
Twiiter: @N_Earth

ทั้งนี้ นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ถือได้ว่าเป็นอีกเดือนหนึ่งที่จะมีปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่สวยงามมาให้ได้ชมกันในยามราตรี โดยจะมี 2 ปรากฏการณ์ที่เด่นๆ ได้แก่  ปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวศุกร์  และดาวเคียงเดือน 

 โดยปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวศุกร์ จะเกิดขึ้นช่วงหัวค่ำของวันที่ 13 มีนาคม 2555 เราจะมองเห็นดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้กันในมุมปรากฏมากที่สุดในรอบปี เป็นระยะห่างเชิงมุมประมาณ 3 องศา สามารถสังเกตเห็นได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ตกเป็นต้นไป โดยจะเริ่มสังเกตเห็นดาวศุกร์ส่องสว่างสูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเป็นมุมประมาณ 40 องศา (เนื่องจากดาวศุกร์อยู่ใกล้โลกและมีความสว่างปรากฏมากกว่า) หลังจากนั้นจะสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ทางซ้ายของดาวศุกร์ และจะสามารถสังเกตเห็นทั้งดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงข้างกันบนท้องฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 21:30 น. ก็จะตกลับขอบฟ้าไป

ในวันที่ 25-26 มีนาคม 2555 ก็ยังจะมีความสวยงามบนท้องฟ้าอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน คือ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี อยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยวบางๆ คล้ายกับพระจันทร์ยิ้มที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 โดยในวันที่ 25 มีนาคม 2555 จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยว 3 ค่ำ อยู่ด้านล่าง สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกประมาณ 25 องศา ถัดขึ้นไปประมาณ 6 องศา จะเป็นดาวพฤหัสบดี และถัดไปอีก 15 องศา จะเป็นดาวศุกร์ 
ส่วนวันที่ 26 มีนาคม 2555 จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยว 4 ค่ำ สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกประมาณ 38 องศา อยู่ระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวศุกร์ สำหรับปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวศุกร์  และดาวเคียงเดือน สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าได้ทุกภูมิภาคของประเทศ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง