ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการชี้ปรับกรอบคิดเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ Low Carbon Society

สิ่งแวดล้อม
15 มี.ค. 55
18:22
26
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ปรับกรอบคิดเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ Low Carbon Society

รองปลัด ก.พลังงาน เตรียมเสนอ “เกาะสมุย” เป็น “ต้นแบบ” Low Carbon Society ของประเทศไทย พร้อมผลักดันนโยบายการพัฒนา Low Carbon Society ให้เกิดขึ้นจริง ด้านนักวิชาการเชื่อเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ SEE 2011 ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงานมากขึ้น

การประชุมวิชาการนานาชาติ The 4th International Conference on Sustainable Energy and Environment (SEE 2011) : A Paradigm shift to Low carbon Society จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากนักวิชาการภาคการศึกษา องค์กรด้านการวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจกว่า 200 คน ที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อต่างๆ รวม 130 บทความ จาก 18 ประเทศทั่วโลก  โดยกว่า 40% เป็นผลงานวิจัยจากต่างประเทศ

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Overview of energy situation and policy in Thailand ว่า สภาพอากาศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์  ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจตื่นตัวและวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

“Low Carbon Society  คือประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ หลังจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเองก็ได้มีการพัฒนาเรื่องของการประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการเรื่องเมืองพลังงานสะอาด เพื่อลดการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น ทั้งนี้ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้เสนอให้เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เข้าสู่ Low Carbon Society เพื่อนำร่องและผลักดันให้นโยบายการพัฒนา Low Carbon Society ให้เกิดขึ้นได้จริง การประชุมครั้งนี้จึงถือว่าเป็นเวทีที่ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติและความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป” 

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร  ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวว่า หากพิจารณาถึงต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นพบว่าสาเหตุใหญ่มาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ออกสู่ชั้นบรรยากาศ  การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งจำเป็นและการใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกยังไม่สามารถลดได้ตามที่โลกคาดหวัง
เป้าหมายหลักของการจัดประชุมครั้งนี้คือ การเปลี่ยนกรอบความคิด (paradigm shift) เพื่อให้มีมุมมองใหม่ ๆ ในการเข้าสู่ low carbon society การประชุมสะท้อนกรอบความคิดของการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานพลังงานเพื่อรองรับการปรับปรุงและส่งเสริม เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งในการใช้พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน     รวมถึงแนวทางการผลักดันนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปสู่การปฏิบัติจริงภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างต่อเนื่อง

 “ผลที่ได้ในการประชุมครั้งนี้คิดว่าโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่  Low Carbon Society เท่าที่ฟังจากวิทยากรหลักทั้งจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ทุกคนต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนกรอบความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมก้าวไปสู่ Low Carbon Society   โดยเฉพาะการรับผิดชอบแก้ไขสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้ให้ดีขึ้น”

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการในเรื่องดังกล่าวระหว่างมหาวิทยาลัยเกียวโตกับมจธ. และหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการวิจัยกับปัญหาพลังงานสะอาด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี  แต่ต้องมีการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทนใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพราะบัณฑิตเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่ Low Carbon Society 

“ความเข้มแข็งในการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการของหน่วยงานต่างๆ คือส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนนโยบายไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งส่วนหนึ่งคือการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงาน ขณะเดียวกันต้องมีการปรับปรุงแก้ไขนโยบายคือ 1.ลดการใช้  2.ต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขไปพร้อมๆกัน และที่สำคัญคือต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน หรือที่เรียกว่า CO Carbon Society ที่มีการดึงและปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปเท่าๆ กันในกระบวนการทำงาน”

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเชื่อว่าการพัฒนาประเทศสู่ Low Carbon Society โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง จะช่วยป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย และที่สำคัญจะช่วยให้ประชาคมโลกจะก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง