ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสม.ลงพื้นที่เหมืองเลย-ขอรองผู้ว่าฯ ไกล่เกลี่ยเหมืองยุติฟ้องเยาวชน

สิ่งแวดล้อม
15 ม.ค. 59
13:35
351
Logo Thai PBS
กสม.ลงพื้นที่เหมืองเลย-ขอรองผู้ว่าฯ ไกล่เกลี่ยเหมืองยุติฟ้องเยาวชน
กสม.ลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริง กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ร้องเรียนผลกระทบเหมืองแร่ ติดใจเหมืองเปิดทำการหรือไม่ พร้อมขอรองผู้ว่าฯ จ.เลย ไกล่เกลี่ยผู้ประกอบการเหมืองยุติฟ้องเยาวชนนักข่าวพลเมือง

วันนี้ (15 ม.ค.2559) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีนางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นประธาน ลงพื้นที่จังหวัดเลย หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านกรณีได้รับผลกระทบการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จ.เลย โดยประชุมร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทอง จ.เลย ตัวแทนบริษัท ทุ่งคำ และกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย กรณีชาวบ้านรอบเหมืองแร่ร้องเรียนผลกระทบจากการประกอบการกิจการเหมืองแร่ ทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งชาวบ้านระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน รวมถึงข้อร้องเรียนกรณีการนำเครื่องจักรเข้าไปปรับปรุงพื้นที่เหมือง ทั้งที่อยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่กับกรมป่าไม้

นางเตือนใจ กล่าวถึงกรณีฟ้องร้องเยาวชนว่า อยากให้รองผู้ว่าฯ เป็นตัวแทนเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีนี้ เพราะการที่เด็กถูกฟ้องร้องในคดีอาญาก็ถือเป็นเรื่องกระทบใจคนทั้งประเทศ หากคดีนี้ยุติลงโดยไม่มีการฟ้องร้องก็จะสร้างความสมานฉันท์ให้คนในพื้นที่ได้ โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับว่า จะเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยให้ และในช่วงบ่ายวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ตรวจสอบเหมืองแร่ว่า มีการนำเครื่องจักรเข้าปรับปรุงพื้นที่ตามที่กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดร้องเรียนหรือไม่

ขณะที่นักวิชาการสาธารณะ จ.เลย ชี้แจงข้อมูลสุขภาพของประชาชน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ว่า เมื่อปี 2557 ผลการตรวจปัสสาวะประชาชนจาก 408 คน พบชาวบ้านจำนวน 21 คน พบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน ส่วนปี 2558 ตรวจสุขภาพประชาชนจาก 400 คนพบชาวบ้านพบสารหนูเกินค่ามาตรฐานอีก 25 คน รวมตอนนี้มีผู้มีพิษสารหนูเกินค่ามาตรฐานรวมทั้งสิ้น 46 คน ทางสาธารณสุข จ.เลย จึงใช้วิธีการขับพิษสารหนูจากตัวชาวบ้าน นอกจากนี้ยังตรวจพบอีกว่า ในห่วงโซ่อาหารที่เก็บจากห้วยผุ ห้วยเหล็ก และห้วยน้ำฮวย พบสัตว์น้ำและผักบางชนิดมีสารหนูปนเปื้อน จึงได้ออกประกาศให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ประกาศไม่ให้ประชาชนบริโภคพืชและผักที่มีสารหนูตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

ด้านตัวแทนจากกรมป่าไม้ชี้แจงว่า อายุการเช่าขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ได้หมดลงแล้วอยู่ระหว่างการอนุมัติ ก่อนหน้านี้อธิบดีกรมป่าไม้ระบุว่า ทางบริษัททุ่งคำฯ มีสิทธิขอใช้พื้นที่อีก แต่จะอนุญาตหรือไม่เป็นสิทธิของกรมป่าไม้ เพราะต้องการให้บริษัทเอกชนแก้ไขปัญหาก่อน

ขณะที่ตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า สารหนูที่ปะปนมาจากไหน แต่จากการตรวจเก็บตัวอย่างจากขอบบ่อเก็บการสารพบสารไซยาไนซ์มากที่สุด ทั้งนี้วิเคราะห์ตะกอนดินจากลำห้วยเหล็กพบว่า ตะกอนดินช่วงเหมืองทองคำมีสารหนูและสารไซยาไนซ์สูง แต่ตะกอนดินช่วงอื่นๆ ค่าสารเคมีลดลง

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังติดใจกรณีที่การเปิดทำการของบริษัททุ่งคำจำกัด ทั้งที่ได้มีคำสั่งให้ปิดทำการ เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ในช่วงกลางคืนยังได้ยินเสียงเครื่องจักรทำงาน จึงลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบภายในเหมืองแร่ทองคำหลังจากยุติการประกิบการมากว่า 3 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง