ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการชี้สื่อต้องคุมกันเองให้ได้ก่อนถูกผู้มีอำนาจคุม

สังคม
20 ม.ค. 59
17:44
561
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้สื่อต้องคุมกันเองให้ได้ก่อนถูกผู้มีอำนาจคุม
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์ขอโทษ น้อมรับทุกคำวิจารณ์จากกรณีการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ระหว่างเคลื่อนย้ายศพ “ปอ” ทฤษฎี สหวงษ์ พร้อมกับแสดงความชัดเจน ร่วมหารือกำหนดทิศทาง

สอดคล้องกับมุมมอง “ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เน้นย้ำว่า ถึงเวลาที่องค์กรสื่อ และสภาวิชาชีพสื่อต้องร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดกติกาที่ทุกฝ่ายเคารพและใช้ได้จริง

“องค์กรวิชาชีพ องค์กรสื่อ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ถ้ากรอบจรรยาบรรณยังไม่ลงรายละเอียดเรื่องการทำข่าวในกรณีพิเศษ เช่น ข่าวงานศพคุณปอ คุยกันก่อนว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ วางกรอบกติกากันเองและนำไปเป็นมาตรฐานของคนทำสื่อ ไม่ว่ากรณีต่อไปจะเป็นคนธรรมดาทั่วไปก็ให้ยึดถือกรอบนี้ นั่นจะเหมาะสมและใช้ได้จริงมากกว่า สังคมเรียกร้องให้สื่อจัดระเบียบการนำเสนอข่าวสาร จัดระเบียบการทำข่าว สื่อน่าจะทบทวนกัน วางกติกากันเอง จะช่วยให้ความน่าเชื่อกลับมาได้ ถ้าสื่อไม่คุยกันเอง วันข้างหน้าหากผู้มีอำนาจจะวางกฏเกณฑ์ให้ ก็จะมีปัญหาคุกคามเสรีภาพการเสนอข่าวสาร”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ขนาดไหนที่รัฐจะเข้ามากำกับดูแล ดร.มานะกล่าวว่า “ถ้าสื่อไม่กำกับกันเองมันมีแนวโน้มตลอดเวลาครับ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็อยากให้สื่อเป็นเครื่องมือ ถ้าสื่อต้องการเสรีภาพ คุณต้องกำหนดกติกาที่นำไปใช้ได้จริง ใครนอกแถวให้มีกรอบลงโทษกันเองก่อน ดีกว่าให้คนอื่นสั่งซ้ายหันขวาหัน ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ได้เสรีภาพเสนอข่าวสารอย่างที่คนสื่ออยากได้”

เมื่อถามว่า อาจารย์เสนอให้มีบทลงโทษลักษณะไหน ดร.มานะกล่าวว่า คิดว่าเริ่มจากสำนักข่าว ถ้าคนของสำนักข่าวทำผิดจรรยาบรรณ อาจมีมาตรการตั้งแต่เล็กน้อย ตักเตือนลงโทษหักเงินเดือน ไปจนถึงไล่ออก นี่คือสิ่งที่แต่ละสำนักข่าวสามารถดำเนินการได้

เมื่อถามว่า ระดับองค์กรวิชาชีพจะมีบทลงโทษหรือวางกอบแบบไหน จึงจะศักดิ์สิทธิ์พอที่นักวิชาชีพไม่กล้าละเมิด ดร.มานะกล่าวว่า ต้องคุยกันก่อนว่าจะมีการปรับหรือไม่ ถ้าหนักมากก็ต้องหยุดนำเสนอข่าว หยุดพิมพ์ เราเคยเห็นว่าหนังสือพิมพ์ที่ผิดพลาดไปแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เขาหยุดพิมพ์ 5 ถึง 7 วันก็มี เขารู้ตัวว่าผิดมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องคุยกันเองก่อนว่าอะไรคือความเหมาะสม ที่ผ่านมาเวลาลงโทษ สมาชิกไม่พอใจก็ลาออก ดำเนินการอะไรไม่ได้แล้วจึงไม่มีผลทางปฎิบัติ ต้องตกลงกันว่า ถ้าผิดต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้ ไม่ใช่เขียนกติกาแล้วฉีกกันเอง อย่างนี้ภาพรวมสื่อจะถูกลดทอนความน่าเชื่อถือ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แนวคิดเรื่องใบประกอบชีพพอจะเป็นไปได้หรือไม่ ดร.มานะกล่าวว่า ไอเดียนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ด้านหนึ่งอยากให้เป็นเหมือนสภาทนายความหรือสภาวิชาชีพอื่นๆ แต่ผู้คัดค้านส่วนใหญ่ที่เป็นสื่อมวลชนอาวุโสคร่ำหวอดในวงการ กังวลว่าจะถูกแทรกแทรงการให้ใบอนุญาตหรือถอนใบอนุญาต หากรัฐบาลใดในอนาคตต้องการควบคุมสื่อ โดยใช้ใบอนุญาตเป็นเครื่องมือ อาจจะมองว่านักข่าวคนนี้หัวแข็งหน่อย ถอนใบอนุญาตเสีย คนนี้ก็หมดสิทธิเป็นนักข่าว นี่ก็เป็นช่องว่างหนึ่ง

“สมัยก่อนนั้นการเป็นนักข่าวต้องมีใบนักข่าว ทุกวันนี้เรามีช่องทางเสนอข้อมูลข่าวสารเยอะ หากไม่สามารถทำงานในช่องข่าว คุณก็สามารถมีช่องในยูทูปของตัวเอง อย่างนั้นมีประโยชน์มั้ย จุดนี้ต้องคิดคำนึงให้มาก” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้ากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องเรตติ้ง รสนิยมการรับชม เมื่อวานมีหลายกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ชมเลิกสนับสนุนสื่อไร้จริยธรรม เป็นความตื่นตัวอีกครั้ง เพราะเราก็เรียกร้องกันแบบนี้ทุกครั้งที่เกิดปัญหา เรื่องนี้สะท้อนอะไร ดร.มานะกล่าวว่า นักข่าวภาคสนามจำนวนหนึ่งรณรงค์ให้บริโภคสื่อน้ำดี ไม่ชม ไม่เสพสื่อละเมิด เป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะนักข่าวภาคสนามเวลาโดนตำหนิมักถูกเหมารวมว่าเป็นสื่อไม่ดี ในขณะที่บางคนดำรงกรอบจรรยาบรรณแต่โดนด่าหนัก ยุคนี้ผู้บริโภคสื่อมีพลังมากขึ้นในการเรียกร้องให้สื่อที่พัฒนาด้านจริยธรรมได้รับการสนับสนุน ขณะที่สื่อละเมิดจริยธรรมวิชาชีพตัวเอง ควรถูกละเลย

“เราไม่ควรสนับสนุนสื่อไร้จรรยาบรรณ เราควรสนับสนุนสื่อมีคุณค่า ที่ผ่านมาสื่อไร้จรรยาบรรณมักอ้างเรตติ้ง อ้างความสนใจของผู้ชม ซึ่งเรตติ้งเชิงปริมาณนี้ดึงดูดโฆษณา แต่ไม่ได้การันตีคุณภาพเราต้องแสดงพลังครับ ถ้าอยากได้สื่อที่ดีต้องร่วมมือกัน ทำยังไงให้เค้ารู้ว่าประชาชนไม่อยากเสพสื่อที่ไร้จริยธรรม” ดร.มานะกล่าว

อุรชัย ศรแก้ว
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง