ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สหภาพยุโรปได้รับคำเชิญร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อมพม่า

ต่างประเทศ
23 มี.ค. 55
14:02
32
Logo Thai PBS
สหภาพยุโรปได้รับคำเชิญร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อมพม่า

นางอองซานซูจี กลับไปหาเสียงในเขตเลือกตั้งของตัวเองอีกครั้ง ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1 เม.ย. ขณะที่สหภาพยุโรป ยืนยันได้รับคำเชิญจากรัฐบาลพม่า เข้าร่วมสังเกตการณ์ในวันเลือกตั้งซ่อมของพม่า ซึ่งแม้จะเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของกระบวนการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่ก็ถือว่ารัฐบาลพม่าแสดงความพยายามให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับ

ผู้สนับสนุนนางอองซานซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าหลายหมื่นคน ออกไปฟังการปราศรัยของเธอในเขตเขตกอว์มู (Kawhmu) ของนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนและใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงย่างกุ้งราว 3 ช.ม. โดยนางอองซานซูจีได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตนี้ โดยเธอกล่าวต่อผู้สนับสนุน ว่า ไม่ว่าพรรคเอ็นแอลดีจะชนะการเลือกตั้งกี่ที่นั่ง ทางพรรคก็จะทำงานในรัฐสภาเพื่อประชาชน

นายเดวิด ลิปแมน เอกอัคราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป หรือ อียู ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าขณะนี้สำนักงานคณะผู้แทนอียูในไทย ได้รับหนังสือเชิญจากรัฐบาลพม่าอย่างเป็นทางการ ให้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ในวันเลือกตั้งซ่อมของพม่า ในวันที่ 1 เม.ย. เช่นเดียวกับอียูสำนักงานใหญ่ในกรุงบรัสเซลของเบลเยี่ยม ที่ได้รับคำเชิญทางวาจาจากทูตพม่าประจำอียู ให้ส่งคณะผู้สังเกตการณ์ร่วมกับอาเซียน

แม้การสังเกตการณ์ครั้งนี้จะเป็นเพียงภารกิจ 1 วัน และเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งหมด แต่อียูก็ตอบรับความพยายามของรัฐบาลพม่า ในการดำเนินการเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใสและน่าเชื่อถือ

การเลือกตั้งซ่อมของพม่าเป็นบททดสอบที่นานาชาติจับตาว่า พม่าจะมีความจริงใจในการพัฒนาประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด และอาจนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้นานาชาติช่วยจับตาการเลือกตั้งซ่อมในพม่า เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเสรีภาพและเป็นธรรมอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็มีมติให้ยืดระยะเวลาการสอบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าออกไปอีก 1 ปี ตามข้อเสนอของอียู โดยเฉพาะประเด็นการปล่อยตัวนักโทษการเมือง

ขณะที่นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ความพยายามของนานาชาติที่ผ่านมา เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่า แต่พม่ายังต้องพบกับอุปสรรคอีกมาก ดังนั้นประชาคมโลกจะต้องกระตุ้น และสนับสนุนการสร้างความเปลี่ยนแปลงในพม่าต่อไป และมีความเป็นไปได้ว่าเลขาธิการสหประชาชาติ อาจเดินทางเยือนพม่าในเดือน เม.ย.นี้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง