งานวิจัยของมูลนิธิฯ ได้รับการเผยแพร่ที่การประชุม World Economic Forum ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 ม.ค.2559 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เว็บไซต์ข่าวอัล จาซีรา รายงานว่างานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าขณะนี้ร้อยละ 32 ของขยะพลาสติกไม่ได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสมและถูกปล่อยทิ้งในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งในมหาสมุทร ซึ่งหากว่ายังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ในอีก 34 ปีข้างหน้า ปริมาณของขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะมีปริมาณมากกว่าปลาทะเลเสียอีก
งานวิจัยระบุว่าปัจจุบันนี้มีขยะพลาสติกจำนวน 8 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเลในแต่ละปี
"ปัญหาใหญ่ก็คือการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง" ไดอานา โคเฮน ประธานเครือข่ายจับตามลพิษจากพลาสติก (Plastic Pollution Coalition) กล่าว
ผู้ทำวิจัยชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษจากพลาสติก 180 คนที่ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ขยะพลาสสติกที่พบอยู่ในทุกวันนี้เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง
"การที่เราไม่มีระบบนำพลาสติกกลับไปใช้ใหม่ ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในอนาคตคนในประเทศที่คนรับประทานปลาเป็นอาหารหลักจะเจอกับปลาที่กินพลาสติกเข้าไปหรือติดอยู่ในพลาสติกหรือตายเพราะมีพลาสติกอยู่เต็มท้อง" โคเฮนกล่าว
โคเฮนเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ออกมาตรการบังคับให้ผู้ผลิตนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ขยะพลาสติกล้นทะเล
"เราทุกคนมีพลังที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อลดปริมาณของพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน" โคเฮนกล่าว
เว็บไซต์อัล จาซีราระบุด้วยว่า มีขยะพลาสติกบนโลกเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่ถูกรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์
แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.aljazeera.com/news/2016/01/oceans-plastic-fish-2050-report-160120051728640.html