โอกาสนักลงทุนไทยด้านธุรกิจบริการในเวียดนาม
นับตั้งแต่ประเทศเวียดนามดำเนินนโยบายปฎิรูปเศรษฐกิจในปี 2529 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.22 ต่อปี และเติบโตสูงสุดในปี 2550 ที่ร้อยละ 8.46 ซึ่งเหตุผลสำคัญมาจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO
อีกเพียง 3 ปี เมื่ออาเซียนรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ หรือ AEC โอกาสของนักลงทุนในภูมิภาคก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2543 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 13.3 ของจีดีพี เป็นร้อยละ18.7 ในปี 2553 โดยสัดส่วนการลงทุนของกลุ่มประเทสอาเซียนในเวียดนามพบว่าสิงคโปร์มีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 11.5 มาเลเซียรองลงมาที่ร้อยละ 9.5 และไทยเป็นอันดับ 3 ที่ร้อยละ 2.95
สำหรับโครงการการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่การลงทุนในธุรกิจบริการมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ เช่น โรงแรม และร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีกส่ง และธุรกิจบริการการเงิน
ไกด์ท่องถิ่นชาวเวียดนาม กล่าวว่า การท่องเที่ยวของเวียดนามกำลังเติบโตอย่างมาก แม้จะยังไม่ใช่รายได้หลัก เพราะเวียดนามยังมีรายได้หลักมาจากการทำเกษตรกรรรม แต่ถือว่าเป็นรายได้สำคัญซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านนี้อย่างมากโดยมีการผ่อนปรนกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุน
ขณะที่เจ้าของร้านอาหารไทยในเวียดนามรายนี้ให้ข้อมูลว่าชาวเวียดนามส่วนใหญ่ชื่นชอบสินค้าของไทย เนื่องจากมีคุณภาพดี โดยเฉพาะอาหารไทย ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการด้านร้านอาหารค่อนข้างน้อย แต่หากมีการเปิด AEC แล้ว เชื่อว่าจะเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกด้านอาหารได้มากขึ้น
แม้ธุรกิจบริการในเวียดนามกำลังเติบโต และเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างมากเพื่อรองรับการเปิด AEC ในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นเสี่ยงปัจจัยสำคัญ คือ วัฒนธรรม และสภาพสังคม และการเมืองและกฎหมายของเวียดนาม ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภาค นักลงทุนจึงควรศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจเพื่อจะสามารถลงทุนในสินค้า และบริการ ได้ตรงกับความต้องการของชาวเวียดนาม