อย. ระงับใช้ยา
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ชี้แจงการประกาศระงับการใช้ยา "ซูโดอีเฟดรีน" สูตรผสม ไม่กระทบต่อผู้ป่วย เพราะสามารถใช้ยา "เฟนิลเอฟริน" ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาใกล้เคียงทดแทนได้ และหากแพทย์มีความจำเป็นต้องใช้ซูโดอีเฟดรีน ก็สามารถใช้ซูโดอีเฟดรีน ตำรับเดี่ยวได้ แต่ต้องขอใบอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ และจัดทำรายงานการสั่งจ่าย ส่งให้ อย.ตรวจสอบทุกเดือน
พร้อมกันนี้ นพ.พิพัฒน์ยืนยันว่าที่ผ่านมา อย. ได้มีมาตรการคุมเข้มยาซูโดอีเฟดรีนสูตรผสม ทุกขั้นตอน โดยหลังนำเข้าวัตถุดิบ บริษัทยาที่ได้รับโควต้าในการผลิตจากคณะกรรมการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ของ อย. จะต้องแจ้งกำหนดวันที่ผลิต และเมื่อผลิตเสร็จแล้วจะต้องรายงานการใช้วัตถุดิบสารเสพติดดังกล่าว ว่ามีปริมาณการใช้เท่าใด คงเหลือเท่าใด และสูญเสียระหว่างการผลิตไปจำนวนเท่าใด ให้ อย.ทราบภายใน 30 วัน เช่นเดียวกับขั้นตอนการจำหน่ายของบริษัทยา ที่มีการตรวจสอบอย่างรัดกุม และต้องรายงานให้อย.ทราบทุก ๆ 1 ปี
ส่วนขั้นตอนการสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วย โรงพยาบาลจะต้องรายงานข้อมูลให้ อย.ทราบทุก ๆ 3 เดือน โดยสิ้นเดือน มี.ค.นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาจะประกาศยกระดับยาซูโดอีเฟดรีนสูตรผสม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ทำให้ต้องมีการขอใบอนุญาตครอบครอง และรายงานการใช้ดังกล่าวต่อ อย.ทุกเดือน เชื่อว่าจะช่วยป้องกันปัญหาการนำยาไปใช้ผิดประเภทได้อย่างรัดกุมมากขึ้น
ปัจจุบันมีการนำวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด มาใช้ในการผลิตยาจำนวน 15 รายการ ซึ่ง อย.จะเพิ่มมาตรการควบคุมการใช้ให้เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ผลการตรวจสอบคลินิกและร้านยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
หลังออกประกาศห้ามจำหน่ายยาซูโดอีเฟดรีน ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา จำนวน 3 ครั้ง ใน 413 ร้าน พบมีคลีนิกและร้านยาลักลอบจำหน่ายยาชนิดนี้ 29 แห่ง เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย ฐานไม่ทำบัญชีควบคุมยาอันตราย และไม่ปฏิบัติตามประกาศของ อย. จะต้องถูกพักใบอนุญาต 1 - 3 เดือน
ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการตรวจสอบการสั่งจ่ายยาซูโดอีเฟดรีนผิดปกติในโรงพยาบาล 17 แห่ง พบว่าตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว 10 แห่งในจำนวนนี้ ไม่มีปัญหา 4 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร์, โรงพยาบาลกบินทร์บุรี, โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลปากช่อง ส่วนอีก 6 แห่ง มีการลักลอบนำยาออกจากโรงพยาบาลจริงและอยู่ระหว่างการตรวจสอบวินัยผู้ที่เกี่ยวข้อง 7 คน ได้แก่ โรงพยาบาลอุดรธานี, โรงพยาบาลทองแสนขัน, โรงพยาบาลกมลาไสย, โรงพยาบาลฮอด, โรงพยาบาลดอยหล่อ, และโรงพยาบาลภูสิงค์
ส่วนที่เหลืออีก 7 แห่ง ได้รับรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว แต่ต้องรอรายงานผลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยพบว่าไม่มีปัญหา 4 แห่ง ที่เหลือ 3 แห่ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ