จับตา “มอเตอร์โชว์ 2012” ตลาดรถหลังผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วม
จากเหตุการณ์น้ำท่วมในสวนอุตสาหกรรมโรจนะเมื่อปี 2554 และมีรถยนต์ฮอนด้าที่จมน้ำจำนวนหลายร้อยคัน ได้ทำให้เป็นที่จับตาของรถค่ายนี้ในงานมอเตอร์โชว์ 2012 และเป็นที่สนใจว่า จะมีการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น แต่เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) มีรายงานทางเวปไซต์ของสำนักข่าวญี่ปุ่นที่ระบุว่า บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ได้ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีกแห่งหนึ่งในไทย กำลังการผลิต 120,000 คัน และมีแนวโน้มว่าจะไปตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงจากอุทกภัยน้อยกว่า แต่เรื่องนี้ก็ได้รับการปฎิเสธจากผู้บริหารของฮอนด้าในไทย
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้าออโตโมบิล ประเทศไทย บอกว่า บริษัทไม่มีแผนลงทุนโรงงานแห่งใหม่ตามที่มีรายงาน เพราะต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยในอนาคต และขณะนี้โรงงานฮอนด้าในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะเริ่มกลับมาเปิดอย่างไม่เป็นทางการแล้ว แต่ถ้าความต้องการรถยนต์สูงขึ้นมากจนต้องขยายการผลิต ก็จะพิจารณาพื้นที่อื่นในประเทศ หรือต่างประเทศ
ขณะที่บูธฮอนด้าเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) นำรถมาโชว์ 10 รุ่น เป็นโฉมใหม่ 4 รุ่น หลายรุ่นที่ตอนนี้กลับมารับจองอีกครั้ง แต่ตัวแทนจำหน่ายบอกว่าต้องส่งมอบให้ลูกค้าที่จองไว้แล้วก่อน ก็น่าจะเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี ส่วนผลพวงอีกอย่างที่ตามมาหลังอุทกภัย คือยอดจองรถกระบะเพิ่มขึ้นแบบกระทันหัน เพราะหลายคนกลัวว่าปีนี้น้ำจะท่วมซ้ำ แม้ยอดจองจะสูง โรงงานประกอบรถยนต์น้ำไม่ท่วม แต่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์กลับเสียหายจากน้ำท่วม การผลิตรถยนต์จึงชะลอการผลิตตามไปด้วย จนถึงวันนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยังฟื้นตัวไม่เต็มร้อย
เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) ยังได้สัมภาษณ์ผู้บริหารค่ายฟอร์ด คุณสาโรช เกียรติเฟื่องฟู ซึ่งกล่าวว่า หลังน้ำท่วมส่วนใหญ่ลูกค้าสนใจจองรถกระบะยกสูงเท่านั้น ถึงแม้เครื่องยนต์กระบะจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลก็พยายามดูแลไม่ให้ราคาดีเซลแพงจนเกินไป ทำให้รถกระบะยังเป็นที่ต้องการของตลาด ถ้าค่ายรถค่ายใดบริหารจัดการได้ดี หรือส่งมอบรถได้เร็วกว่า ก็จะเป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้ามากขึ้น
เฉพาะค่ายรถฟอร์ด ยอดจองตั้งแต่ธันวาคมที่ผ่านมา 12,500 คัน แต่ส่งมอบไปได้เพียง 3,000 คัน หมายความว่าค้างจอง 9,500 คัน ทำให้ผู้บริหาร ยอมรับถึงการผลิตรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนบางราย ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่เชื่อว่าภายใน 1-2 เดือน สถานการณ์จะกลับสู่ปกติ
ขณะที่การผลิตรถกระบะรุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน 4 ค่าย ทำให้เกิดความหลากหลาย และมีภาวะการแข่งขันรุนแรง แต่หากค่ายใดสามารถส่งมอบรถได้เร็วก็จะได้เปรียบคู่แข่ง สำหรับภาพรวมยอดขายในประเทศ คาดว่า จะเพิ่มจาก 32,000 คัน ในปีที่แล้ว เป็น 45,000 คันในปีนี้