ตกเป็นประเด็นข่าวตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ว่า กยศ. "หนี้ท่วม" และ "ถูกเบี้ยวหนี้" ถึงขั้นขู่ฟ้อง-ยึดทรัพย์ผู้ที่หลีกเลี่ยงหรือไม่ติดต่อชำระหนี้ พร้อมปรับเกณฑ์ปล่อยเงินกู้เรียนใหม่ โดยกำหนดให้ผู้กู้ต้องมีผลการเรียน 2.00 ตามนโยบายของ คสช. หวังคัดกรองผู้กู้ ทั้งยังเพิ่มความเข้มงวดสถานศึกษา-ผู้กู้ ทั้งของรัฐและเอกชน หากสถาบันการศึกษาใดมียอดค้างชำระหนี้มาก อาจถูกลดการจัดสรรงบเงินกู้ลง
ข้อมูล กยศ.ระบุว่า ปัจจุบัน กยศ.ได้ปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษากว่า 4.5 ล้านคน เป็นจำนวนเงิน 400,000 ล้านบาท มีผู้กู้ที่จบการศึกษาได้ทำงานครบกำหนดชำระเงินไป 3.1 ล้านคน ขณะที่ยังมีผู้ค้างชำระเงินอีก 2 ล้านคน เป็นจำนวนเงินกว่า 50,000 ล้านบาท
คืนหนี้ปี 2558 ถึง 1.7 หมื่นล้าน-ไม่ชำระก็ถูกฟ้อง
นายปรเมศวร์ สังข์เอี่ยม รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า การชำระหนี้ในช่วงปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในปี 2558 มียอดชำระหนี้คืน 17,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มียอดการชำระคืนหนี้ 13,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าปี 2559 จะมียอดชำระ 19,000 ล้านบาท
ยอดการชำระหนี้ช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาจเป็นผลมาจากการรณรงค์ชำระหนี้ในโครงการต่างๆ ทำให้ลูกหนี้ตื่นตัวมาชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา กยศ.ได้จ้างบริษัทติดตามทวงหนี้ ทำให้การติดตามทวงหนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ที่ค้างชำระหนี้อีกจำนวนมากที่ กยศ.ต้องเร่งติดตาม
รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้ กยศ. กล่าวอีกว่า หลังจากมีการติดตามทวงหนี้ ปี 2559 กยศ.มีเงินเพียงพอสำหรับการให้กู้ยืมอย่างแน่นอน ซึ่งในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นวิกฤตที่สุด คือมีการชำระหนี้น้อยจนอาจทำให้กองทุนมีเงินไม่พอ แต่สุดท้ายก็พอ
กยศ.เริ่มฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กู้ที่ผิดนัด ไม่ชำระหนี้มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมา กยศ.เป็นฝ่ายชนะคดีแทบทุกราย ซึ่งหากผู้กู้ยืมหนี้กองทุนรู้ตัว และมาชำระหนี้ก็จะไม่ต้องถูกฟ้องร้อง แต่หากเพิกเฉยไม่ติดต่อเพื่อชำระหนี้ กยศ.ก็จะถูกฟ้องร้อง เมื่อคดีถึงที่สุดก็ต้องอายัดทรัพย์ผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
ทวงหนี้-ยึดทรัพย์ตามระเบียบ ธปท.กว่า 8 แสนราย
การดำเนินการติดตามทวงหนี้ เมื่อคดีมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งนายปรเมศวร์กล่าวว่า กยศ.ต้องจ่ายค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล คดีละ 5,500 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะได้กลับมาก็ต่อเมื่อ กยศ.ชนะคดีกับผู้กู้แล้ว เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า ลูกหนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในระหว่างดำเนินคดี ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นฝ่ายแพ้คดีและจะยึดทรัพย์สินลูกหนี้หากคดีถึงที่สุดแล้ว
นายปรเมศวร์กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ้างบริษัทติดตามหนี้เป็นขั้นตอนตามปกติที่ถือปฏิบัติเหมือนสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ ด้วยเหตุผลทางด้านกฎหมายที่ต้องดำเนินการ และการดำเนินการก็ให้บริษัทที่ติดตามทวงหนี้ยึดวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด โดยทรัพย์สินที่ยึดได้ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านและที่ดิน ซึ่งกรมบังคับคดีจะเป็นฝ่ายดำเนินการยึดทรัพย์และขายทอดตลาด ซึ่งในกรณีที่ขายทอดตลาดแล้ว ได้เงินมามากกว่าที่เป็นหนี้ กยศ.ก็จะคืนให้ลูกหนี้แต่หากไม่พอชำระหนี้ ก็จะต้องไปดูว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอื่นหรือไม่ หากมีก็จะทำการยึดหรืออายัด ซึ่งในปี 2558 มีผู้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งหมด 821,791 คน
แก้ระเบียบกองทุนให้เข้าถึงฐานข้อมูลผู้กู้มากขึ้น
ในปีนี้ (2559) กยศ.จะเสนอพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาใหม่ เพื่อให้มีอำนาจเข้าถึงฐานข้อมูลของผู้กู้ได้มากขึ้น และให้หน่วยงาน นายจ้าง หักเงินเดือนของลูกจ้างหรือบุคลากรในหน่วยงานที่เป็นลูกหนี้ของกองทุนฯ เป็นรายเดือน แทนที่จะชำระปีละ 1 ครั้ง เพื่อนำส่งกองทุน กยศ.พร้อมกับเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายของกรมสรรพากร ซึ่งมองว่าอาจเป็นการชำระหนี้ของกองทุนฯได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งการแก้ไขนี้จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
นายปรเมศวร์กล่าวอีกว่า กยศ.พยายามสร้างความเข้าใจและเชิญชวนนายจ้างทำบันทึกข้อตกลงขอความร่วมมือกับกองทุนฯ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยกองทุนฯ จะส่งหนังสือถึงองค์กรนายจ้างที่เป็นส่วนงานราชการทุกแห่ง ให้ช่วยกระตุ้นลูกหนี้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรให้ตระหนักถึงการชำระหนี้มากขึ้น โดยขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการแล้ว คือ กรมบัญชีกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก และบริษัท บาธรูม ดีไซน์
รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้ กยศ. กล่าวว่า โดยปกติแล้วเรื่องการค้างชำระหนี้ไม่ได้ถือเป็นความผิดทางวินัย แต่การค้างชำระหนี้ของรัฐอาจจะผิดจริยธรรม ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับบางสาขาอาชีพหรือบางหน่วยงาน อย่างเช่น อาชีพผู้พิพากษาอาจจะถึงขั้นโดนไล่ออก เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรง
ปี 59 เน้นคัดกรองผู้กู้ต้องได้เกรด 2.0
ส่วนแนวทางการปล่อยกู้ที่ กยศ.จะเริ่มใช้ในปี 2559 จะเป็นไปตามนโยบายการปล่อยกู้ของรัฐบาล คือ "ปล่อยกู้ยาก-จ่ายคืนง่าย" เพื่อให้ผู้กู้ได้เห็นคุณค่าของเงิน โดยจะเน้นการคัดกรองผู้กู้เพิ่มมากขึ้นว่าจะต้องมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00 รวมถึงการคัดกรองสถานศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อที่ว่า เมื่อเด็กจบไปแล้วได้เป็นผู้กู้จากสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้โอกาสที่จะหางานได้สูง โอกาสที่จะมีรายได้มาชำระหนี้กองทุนฯ ก็จะมีมากขึ้น
บางคนคิดว่าไม่ต้องใช้หนี้-เอาเงินไปใช้ฟุ่มเฟือย
สาเหตุหนึ่งของปัญหาการค้างชำระหนี้กองทุนฯ ในช่วงที่ผ่านมา คือ การที่เด็กจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ ตกงาน หรืองานที่ทำมีรายได้น้อย จึงไม่สามารถชำระหนี้ที่กู้ยืมมาได้ และบางคนอาจเข้าใจว่า ไม่ต้องใช้คืนก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมากองทุนมีเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ผ่อนปรนมาก เนื่องจากกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะให้โอกาสแก่นักเรียกนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จริงๆ แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยของกยศ. ต่ำมากคือ ร้อยละ 1 ต่อปี ทำให้หลายคนเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน แต่กลับนำเงินไปใช่จ่ายฟุ่มเฟื่อย และก่อหนี้ตัวอื่น เช่น ซื้อรถยนต์ ซื้อมือถือ ซื้อบ้าน หนี้กองทุนเป็นหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะจ่าย เพราะต้องนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนนั้นก่อน ดอกเบี้ยสูงกว่า มีเบี้ยปรับแพงกว่าแต่กองทุนเบี้ยปรับน้อยกว่า ทัศนคติของผู้กู้ยังคิดอย่างนี้
“ผู้กู้ไม่เห็นความสำคัญของเงินที่กู้ยืม ก็ถือว่าอาจเป็นการปิดกันโอกาสของรุ่นน้องที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จริงๆ เนื่องจากเงินกองทุนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินหรือภาษีของประชาชนที่นำมาให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งจะกลับมาหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้องต่อไป
“สำหรับผู้กู้ต้องมีการวางแผนการชำระหนี้ที่ค้าง จากเดิมที่จะต้องการผ่อนจ่ายปีละครั้ง ก็อาจจะไปชำระเป็นรายเดือน ก็เป็นการแบ่งเบาภาระที่ต้องจ่าย เป็นการบริหารจัดการเรื่องของการผ่อนชำระหนี้ที่ดี และผู้กู้ที่กู้เงินไปแล้วมีงานทำแล้ว ก็อย่าเพิ่งไปสร้างภาระหนี้ตัวอื่นเพิ่มควรที่จะชำระหนี้กองทุนให้หมดก่อน เว้นแต่เราจะสร้างหนี้ผูกพันอีกตัวหนึ่งแล้วสามารถผ่อนชำระได้ก็คงไม่ว่ากันแต่ อันนี้เป็นภาระของตัวเองในอนาคตว่าถ้ารายได้เราน้อยผ่อนทั้ง 2 ด้าน มันก็จะเหนื่อย” นายปรเมศวร์แนะนำ
สำหรับกรณีหนี้สูญ นายปรเมศวร์กล่าวว่ากองทุนฯ เท่าที่พบเกิดจากสาเหตุเดียว คือ ผู้กู้ตาย แต่สำหรับหนี้เสีย กองทุนฯ ยังมีอำนาจติดตามอยู่คืออาจต้องไปฟ้องคดี ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับการใช้คืน ส่วนกระบวนการติดตามก็จะมีหมายศาลไปก็จะเข้าไปถึงตัวผู้กู้ได้เพราะจะเข้าไปถึงตัวผู้ค้ำด้วย อาจเป็นพ่อแม่หรือญาติ ที่มาค้ำประกันให้ การไม่ใช้หนี้จึงกระทบผู้ค้ำประกันด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือ กยศ.สามารถติดตามผู้กู้ได้
พบเด็กให้ข้อมูลเท็จไม่จนจริง-ไม่ลำบากจริง
“ที่ผ่านมากยศ.เคยมีปัญหาว่า เด็กที่กู้ยืมเงินกองทุนฯ ไม่ได้เป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ มีการใส่ชื่อคนอื่นมากู้แทน หรือบางครั้งก็ระบุว่า เป็นผู้มีรายได้น้อย พ่อแม่ทำอาชีพค้าขาย ทำไร่ ทำนา คนที่ทำงานอิสระ ไม่มีหลักฐานทางการเงินมายืนยัน แต่ความจริงแล้วครอบครัวไม่ได้มีปัญหาทางการเงิน การกู้ยืมก็ไม่ได้นำไปเพื่อค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเล่าเรียนจริง แต่กลับนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีใครรับรองได้ว่า เด็กคนนี้ ครอบครัวนี้มีรายได้จริงเท่าไร คนรับรองบางครั้งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการระดับ 5 ขึ้นไป เป็นผู้รับรองก็ไม่รู้จริง ว่าครอบครัวนี้รายได้จริงเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่คนที่รับรองก็เป็นคนที่สนิทกัน พอสนิทกันก็จะรับรองแบบไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามความจริง ทำให้บางทีคนมีรายได้ดีมากู้ก็เยอะ คือ คนไม่จนแต่อยากจน” นายปรเมศวร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาแบบนี้ก็น้อยลง เพราะเด็กที่จะกู้เงิน กยศ. ต้องไปยืนยันตัวตนผ่านระบบ E-studentloan ซึ่งจะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ บุคคลที่ยื่นกู้ต้องกรอกข้อมูลตามความเป็นจริง ซึ่งหากมีการตรวจสอบว่า ข้อมูลที่กรอกไม่ตรงกับข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ ก็จะไม่สามารถยื่นคำขอกู้ได้
“อยากให้ลูกหนี้ช่วยกันชำระหนี้ เพราะท่านได้รับโอกาสไปแล้ว ผมเชื่อว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีงานทำมีรายได้พอที่จะชำระหนี้ แต่อาจจะไม่เห็นความสำคัญของกองทุนฯ การที่กองทุนฯ ยังมีเงินให้กู้อยู่ ท่านอาจจะไม่เดือดร้อนอะไร แต่ลองนึกถึงว่า วันหนึ่งคนที่จะมากู้อาจเป็นคนในครอบครัวของท่าน เป็นน้อง เป็นลูก เป็นหลาน มากู้แล้วบอกว่า กองทุนฯ ไม่มีเงินให้กู้ วันนั้นท่านจะนึกถึงว่า เพราะท่านไม่ชำระหนี้” รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้ กยศ.กล่าว
ยไมพร คงเรือง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน