การสแกนกระดูกต้นแบบของผู้ป่วยด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เช่น กระดูกนิ้วชี้ด้านขวาเป็นเนื้องอก ถูกทำลายเสียรูปร่าง ก็จะใช้กระดูกด้านขวามาเป็นต้นแบบ แล้วแยกชิ้นกระดูกที่ต้องการออกจากเนื้อเยื่อและกระดูกชิ้นอื่นๆ และนำกระดูกต้นแบบมาปรับแต่งออกแบบเจาะรูกระดูกต้นแบบ สำหรับไว้เย็บตรึงกับเส้นเอ็นของผู้ป่วย
แปลงข้อมูลที่ได้เข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่สร้างขึ้นโดยภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำการพิมพ์สามมิติกระดูกต้นแบบโดยใช้เรซินแล้วนำต้นแบบกระดูกเรซินที่ได้มาผลิตเป็นกระดูกโลหะไทเทเนียม จากนั้นทีมแพทย์ผ่าตัด กองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะดำเนินการผ่าตัดใส่กระดูกให้กับผู้ป่วย
นี่เป็นขั้นตอนการรักษาและความสำเร็จของการผ่าตัดใส่กระดูกเทียมที่ผลิตจากโลหะไทเทเนียม โดยการพิมพ์สามมิติ เพื่อใส่ทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือ ที่ถูกทำลายจากเนื้องอกกระดูก ให้กับผู้ป่วยวัย 37 ปี ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกของโลก ซึ่งทีมแพทย์ทำการผ่าตัดยืนยันว่าหลังผ่าตัด 4 เดือน ผู้ป่วยเริ่มใช้นิ้วได้เป็นปกติ โดยไม่พบผลข้างเคียง
ผศ.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ผู้ช่วยคณบดี หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมโลหะ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การคำนวณด้วยหลักวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบกับการประมวลผลข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ทำให้การพิมพ์สามมิติกระดูกต้นแบบ เพื่อผลิตกระดูกโลหะไทเทเนียมมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 98 ทั้งนี้ จะพัฒนาต่อยอดการผลิตกระดูกเทียมส่วนนิ้วหัวแม่มือ ไปสู่การผลิตกระดูกเทียมในส่วนอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ การใช้กระดูกเทียมจากโลหะไทเทเนียมโดยการพิมพ์สามมิติอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3 ปี จากนั้นจะสรุปข้อมูลแล้วทำการเผยแพร่และต่อยอดความร่วมมือในการรักษาให้ครอบคลุมประชาชนต่อไป