ก.เกษตรฯ ทำเกณฑ์การชดเชยความเสียหายจากอุทกภัย ทั้งพืชประมงและปศุสัตว์ คาดสรุปเม.ย.นี้
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานย่อยกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์การชดเชยความเสียหาย ในเขตพื้นที่รับน้ำนอง เพื่อเตรียมเสนอต่อคณะทำงานจัดทำแผนงานการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำพิจารณา และเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้ โดยเกณฑ์การชดเชยแยกเป็น ข้าว พื้นที่ในเขตประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำนองให้เกษตรกรงดปลูกพืชในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน ก.ย.- พ.ย.55 เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการรับน้ำนอง จะได้รับค่าตอบแทนเสมือนหนึ่งเป็นค่าเช่า อัตราค่าตอบแทน 650 บาทต่อไร่ โดยในพื้นที่เขตประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำนองที่มีการเพาะปลูกพืช/ข้าว ต้องปรับระบบการปลูกข้าวนาปีเป็นเดือน พ.ค.- ส.ค.55 ต้องเก็บเกี่ยวภายในเดือน ส.ค.55 เพื่อเตรียมพื้นที่รับน้ำนองเดือน ก.ย.- พ.ย.55 แต่หากได้รับความเสียหายจะได้รับค่าชดเชย โดยคิดจากต้นทุนการผลิตบวกด้วยค่าเสียโอกาส 20% ของต้นทุนการผลิต หรือคิดเป็นอัตราค่าช่วยเหลือกรณีพิเศษ 4,900 บาท/ไร่
สำหรับพืชไร่ ซึ่งมีส่วนน้อยหรือเกือบไม่มีในเขตพื้นที่รับน้ำนอง หากมีและได้รับความเสียหาย จะได้รับค่าชดเชย โดยคิดจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ยบวกด้วยค่าเสียโอกาส 20% ของต้นทุนการผลิต อัตราค่าช่วยเหลือกรณีพิเศษ 6,875 บาท/ไร่ พืชสวนและอื่นๆ เช่นเดียวกัน ในเขตพื้นที่รับน้ำนองได้รับความเสียหาย จะได้รับค่าชดเชยคิดจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ยบวกด้วยค่าเสียโอกาส 20% ของต้นทุนการผลิต หรือคิดเป็นอัตราค่าช่วยเหลือกรณีพิเศษ 11,125 บาท/ไร่ ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ ในเขตพื้นที่รับน้ำนองเกิดความเสียหาย ให้ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี2554 กรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ในส่วนพื้นที่นอกเขตประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำนอง หากได้รับความเสียหาย ให้ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่รับน้ำนอง วงเงิน 319 ล้านบาท ประกอบด้วย 1)โครงการพัฒนาอาชีพเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ ปี 2555 งบประมาณ 229 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 200,000 ราย โดยฝึกอบรมความรู้และสนับสนุนอุปการณ์ในการผลิตให้เกษตรกรใน 4 กิจกรรม ประกอบด้วย การเพาะถั่วงอก การเพาะเห็ดในตะกร้า การปลูกผักสวนครัวลอยฟ้า และการปลูก ปูเล่ เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคสามารถดำรงชีพได้ในช่วงน้ำท่วม
2)โครงการใช้ประโยชน์พื้นที่รับน้ำนองตามนโยบายรัฐบาลเพื่อสร้างอาชีพด้านการประมง พ.ศ.2555 งบประมาณ 50 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อปล่อยพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 30 ตัน ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติก่อนฤดูน้ำหลากในเขตพื้นที่รับน้ำนอง 13 จังหวัด เพื่อให้ได้ลูกพันธุ์ปลา จำนวน 2,000 ล้านตัว เพื่อให้เกษตรกรมีสัตว์น้ำบริโภค และมีรายได้เสริมในช่วงน้ำท่วม
และ 3) โครงการหน่วยเคลื่อนที่ดูแลสุขภาพสัตว์ในพื้นที่รับนำนอง งบประมาณ 40 ล้านบาท โดยมีเป้าหมาย ในการดูแลสุขภาพสัตว์ จำนวน 1.2 ล้านตัว สนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ จำนวน 2,000 ตัน อาหารข้น 500 ตัน รวมถึงจัดหาจุดอพยพสัตว์ชั่วคราวและให้ความช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปอยู่ที่จุดอพยพสัตว์ชั่วคราว