ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดบทเรียน "รับมือภัยพิบัติ" อย่างสมบูรณ์ ต้องไม่ทอดทิ้งคนพิการ

1 เม.ย. 55
19:06
137
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียน "รับมือภัยพิบัติ" อย่างสมบูรณ์ ต้องไม่ทอดทิ้งคนพิการ

“คนพิการเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ถูกลืม และเป็นกลุ่มคนสุดท้ายที่ถูกนึกถึง”  คำกล่าวของอาจารย์มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหาในฐานะนักวิชาการด้านคนพิการในงานประชุมวิชาการเรื่อง “พิการไม่โดดเดี่ยว ตอน ฝ่าวิกฤตน้ำท่วม”  ซึ่งจัดขึ้นในงานสมัชชาปฏิรุประดับชาติ ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ดูเหมือนจะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการดูแลและช่วยเหลือคนพิการในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต   จะเห็นได้อย่างชัดเจนจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมานั้นมีศูนย์อพยพที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลคนพิการจากภาคเอกชนและภาคประชาชนเพียงไม่กี่แห่ง โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐเองนั้น แทบจะไม่มีมาตรการรองรับ และช่วยเหลือคนพิการนั้นเลย เวทีวิชาการในครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นการถอดบทเรียน  และหาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดูแล รวมไปจนถึงความช่วยเหลือคนพิการในยามที่เกิดภัยพิบัติ

กิตติพงษ์  สุทธิ ตัวแทนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ร่วมสะท้อนบทเรียนเรื่องการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการในเวทีวิชาการครั้งนี้ว่า “ สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับผู้พิการทางสายตาคือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการเตรียมการอพยพเมื่อเกิดภัยพิบัติ ถึงแม้เราจะได้ยินเสียงหากแต่เราก็ไม่สามารถอ่านตัวอักษรที่วิ่งขึ้นหน้าจอได้ เพราะไม่มีการสื่อสารผ่านเสียง บางครั้งการแจ้งให้อพยพหรือแจ้งให้เตรียมการรับมือกับภัยพิบัติขึ้นมาเป็นกราฟฟิคหรือเป็นตัวอักษรก็จะทำให้เราพลาดข้อมูลตรงส่วนนั้นไป  สมาคมคนตาบอดของเราก็เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก็ได้ทำการเปิดสายด่วน 1414 เพื่อช่วยประสานและรับข้อมูลและให้ความช่วยเหลือกับคนพิการทางด้านสายตาอย่างถูกวิธีด้วย”
ตัวแทนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยกล่าว

นอกจากผู้พิการทางสายตาจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมา ผู้พิการทางการได้ยินก็เป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะไม่สามารถรับรู้ข้อมูลในการอพยพด้วยเสียงได้  ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งคิดค้นรูปแบบการให้บริการคนพิการทางการได้ยินด้วยระบบล่ามภาษามือออนไลน์หรือศูนย์ TTRS ก็ได้นำระบบการให้บริการของศูนย์มาปรับเพื่อให้ความช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินในยามวิกฤติ

ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล ตัวแทนศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) บอกเล่าถึงการทำงานของศูนย์ในการช่วยเหลือคนพิการเมื่อครั้งเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมาว่า “ ปัญหาของการช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยินคือต้องมีล่ามในการสื่อสารและอำนวยความสะดวกให้ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมานั้นบ้านของล่ามภาษามือเองก็โดนน้ำท่วมจึงทำให้มีล่ามไม่เพียงพอต่อการต้องการความช่วยเหลือของคนพิการทางการได้ยิน  เราจึงแก้ปัญหาด้วยการย้ายล่ามที่โดนน้ำท่วมมาไว้ที่ส่วนกลางและคอยประสานความช่วยเหลือ พร้อมกับสื่อสารกับคนพิการผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์ โดยคนพิการทางการได้ยินสามารถสื่อสารกับล่ามผ่านทางอินเตอร์เน็ตของศูนย์เราได้ว่าต้องการความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหนอย่างไร นอกจากนี้แล้วเรายังมีเบอร์กลางที่จะให้ผู้พิการซึ่งเป็นผู้ประสบภัยส่งข้อความเข้ามาที่ศูนย์เพื่อทราบพิกัดในการที่จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที”ตัวแทนศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)กล่าว

ขณะที่ สุเมธ พลคะชา ตัวแทนจากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เปิดศูนย์อพยพให้กับผู้พิการอย่างครบวงจรได้บอกเล่าถึงการทำงานในการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์ให้ฟังว่า “ศูนย์พระมหาไถ่ของเราเป็นโรงเรียนที่ต้องดูแลคนพิการอยู่แล้ว เมื่อเราทราบข่าวน้ำท่วมเราก็ปรึกษากัน และทำการเปิดศูนย์เพื่อที่จะให้คนพิการเข้ามาพักพิงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสถานที่ของพวกเรานั้นมีความพร้อมทั้งทางลาด สำหรับการเข็นรถวีลแชร์ของผู้พิการทางร่างกาย และมีเบลบล๊อคที่คอยบอกทางสำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้แล้วเรายังได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นโดยการส่งอาสาสมัครเพื่อเข้ามาดูแลคนพิการช่วยด้วย ซึ่งการร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่นและหน่วยงานของเราก็ทำให้การดูแลคนพิการสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบด้วย ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือศูนย์เราจะทำการประเมินการทำงานของศูนย์ด้วยว่าเราสามารถรับคนพิการได้ประเภทไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งคนพิการในบางประเภทที่เกินจากการดูแลของศูนย์ที่เราไม่สามารถดูแลได้เราก็ต้องปฏิเสธไป”ตัวแทนจากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการกล่าว

ด้านอาจารย์มณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหาในฐานะนักวิชาการด้านคนพิการ กล่าวว่า  “ในเรื่องของการจัดการภัยพิบัติไม่ว่าจะเกี่ยวกับคนพิการหรือคนทั่วไปนั้นสังคมไทยจะต้องตระหนักถึงความเสียหายของการเกิดภัยพิบัติให้มากกว่านี้  สิ่งสำคัญที่สังคมไทยต้องจัดการคือการจัดการองค์ความรู้เรื่องการดูแลคนพิการให้เป็นระบบ ทั้งเรื่องของการสื่อสารที่บุคคลทั่วไปหรือคนพิการจะสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีระบบการจัดการที่สมบูรณ์แบบและเหมาะสมสำหรับทุกคนก็จะไม่ต้องเกิดศูนย์ดูแลคนพิการที่จังหวัดชลบุรี เราก็ไม่ต้องเคลื่อนย้ายคนพิการไปไหนไกลเพราะเราสามารถดูแลคนทุกคนได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน” ส.ว.สรรหาในฐานะนักวิชาการด้านคนพิการกล่าว

เวทีวิชาการในครั้งนี้ได้นำบทเรียนของการจัดการภัยพิบัติจากภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมกันสะท้อนมาทอดบทเรียนเพื่อเป็นข้อเสนอและแนวทางในการจัดการภัยพิบัติที่ชัดเจนอาทิ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างความเท่าเทียมในการดูแลโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ  รวมถึงควรมีการกำหนดเรื่องการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการให้เป็นวาระแห่งชาติ  และควรมีการสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีแผนในการจัดการภัยพิบัติโดยให้คนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้เสนอให้มีการบรรจุเรื่องการจัดการภัยพิบัติและการช่วยเหลือคนพิการในแผนพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง